งานเครื่องประดับทองโบราณ นิยมใช้เทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายด้วยการ “สลักดุน” ซึ่งเกิดจากการผสมผสานเทคนิคงานโลหะทั้ง 2 ประเภทเข้าด้วยกันคือ
• การสลัก หมายถึง การทำให้เป็นลวดลายหรือตัวหนังสือด้วยเครื่องมือโดยการใช้สิ่วหรือเครื่องมือสลักตอกด้วยค้อนลงไปบนแผ่นโลหะให้เป็นร่องลึกเพื่อให้เห็นลวดลายหรือภาพชัดเจนโดยไม่ต้อง
ให้เนื้อของโลหะนั้นๆหลุด หรือสึกออกไป
• การดุน หมายถึง การทำให้โลหะต่าง ๆ ให้เป็นรอยนูน ให้สูงขึ้น คล้าย ๆ กรรมวิธีการปั๊มหรือดุนลาย
ดังนั้น “งานสลักดุน” จัดเป็นกรรมวิธีพิเศษที่ต้องอาศัยความชำนาญความสามารถเฉพาะต้องใช้เทคนิคของช่างแต่ละคนและต้องทุ่มเทการปฏิบัติงาน ทั้งแรงกายและแรงใจอย่างจริงจัง เพื่อเกิดความงามมีคุณค่าและเกิดการยอมรับในฝีมือ เพราะการทำงานกับโลหะนั้นจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ง่าย และแก้ไขได้ยากยิ่ง ในสมัยโบราณราชสำนักจึงให้ความสำคัญกับงานช่างแขนงนี้ไม่น้อยไปกว่าช่างแขนงอื่น ๆ กล่าวได้ว่า “งานช่างบุดุน” หรือ “ช่างสลักดุน” ได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นสิ่งที่สูงค่ายิ่ง โดยเฉพาะเครื่องราชูปโภค เครื่องทอง เครื่องประดับตกแต่ง และเครื่องประกอบพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์มานาน