หีบสมบัติถมเงิน เป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของที่ใช้เทคนิคการสลักลวดลายลงบนแผ่นเงินที่มีขนาดตามที่ต้องการ ก่อนจะนำมาขึ้นรูปให้มีรูปทรงเป็นกล่องหีบสมบัติ เติมแต่งขอบ ตัวล็อก และหูจับด้านข้างชิ้นงาน เพื่อที่จะสามารถนำไปประะยุกต์เป็นกระเป๋า ลวดลายที่นำมาใช้ในการทำหีบสมบัติ ตัดถอนลายมากจากลายประยาม นำมาเพิ่มขอบแล้วเรียงต่อกันจนเกินเป็นลายกราฟิกทำให้ชิ้นงานดูมีความร่วมสมัย จากนั้นลงถม ขัด เพลาลาย ชิ้นงาน ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
ถมเงิน
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
ขั้นตอนการทำยาถม :
ยาถมจะมีส่วนประกอบของ ตะกั่ว ทองแดง เนื้อเงิน และกำมะถัน เป็นสูตรลับเฉพาะของช่างแต่ละสำนักหรือช่างแต่ละบ้าน เคล็ดลับการทำยาถมที่สำคัญคือการหลอมส่วนประกอบทั้ง 4 ชนิดเข้าด้วยกันด้วยความร้อน 700 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลา 3-7 ชั่วโมง (แล้วแต่ปริมาณที่ทำน้ำยาถม) ในระหว่างการหลอมนั้นต้องค่อยๆ คนยาถมเข้าด้วยกัน และทยอยใส่กำมะถันทีละนิด สังเกตสีของยาถมให้มีสีดำเสมอกัน ความดำจะขึ้นอยู่กับปริมาณกำมะถันที่ใช้ ยาถมที่ดีจะมีสีเหมือนปีกแมลงทับ มีความดำเงาเลื่อมสีม่วง จากนั้นปั้นเป็นก้อน ทิ้งให้เย็นเก็บไว้รอนำไปใช้ ซึ่งขั้นตอนการหลอมจะมีกลิ่นของกำมะถันแรงมาก จึงต้องหลอมในที่ที่ปลอดคน ห่างไกลชุมชน เช่น ทุ่งนา กำมะถันหรือที่โบราณเรียกว่า สุพรรณถัน จะมีลักษณะเป็นสีเหลือง ได้มาจากภูเขาไฟ สามารถหาได้ในไทย แต่ละชิ้นใช้เวลาทำ 1 เดือน
ขั้นตอนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. เตรียมเนื้อโลหะ : นำเม็ดเงิน 95% มาผสมกับทองแดง 5% หลอมให้เข้ากัน ในการหลอมต้องใช้น้ำประสานทองใส่ผสมลงไปในขณะหลอมด้วย และใช้ถ่านไฟคนหรือกวน ถ้าโลหะผสมกันดีแล้ว จะเป็นสีม่วง และผิวเรียบเกลี้ยงเป็นเงามัน แล้วเทลงราง ออกรูปเป็นแผ่นเงิน
2. ตีแผ่ขึ้นรูปด้วยมือ : โดยใช้ พะเนิน หรือ ค้อนใหญ่ ขึ้นรูปเป็นรูปทรงหรือภาชนะต่าง ๆ ตามต้องการโดยต้องมีความหนาพอสมควร ช่างเครื่องถมต้องใช้ความชำนาญอย่างมากโดยควบคุมไฟด้วยตะเกียงน้ำมันแบบเหยียบ หรือที่เรียกว่า ขาต๊ะ
3. เขียนลาย : ด้วยดินสอแล้วนำมาลอกลายด้วยหมึกจีน โดยหลักต้องเขียนลายให้เกิดความสมดุล ลายที่เขียน ได้แก่ ลายกนกเปลว ลายใบเทศ ลายดอกพุดตาน
4. การสลักลวดลาย : ช่างจะทำความสะอาด และแต่งผิวรูปพรรณให้เรียบ แล้วใช้สิ่วแบบต่าง ๆ สลักลวดลายด้วยมือ ตอกเป็นรอยลึกลงไปตามลวดลายที่เขียนไว้ โดยไม่ให้ผิวโลหะหลุดออกเป็นชิ้น และสลักให้มีรอยนูนดุนออกไปอีกด้านหนึ่ง ส่วนที่สลักลวดลายนี้ เป็นพื้นที่ที่จะถูกเคลือบด้วยยาถมต่อไปจนเต็ม
5. ทำความสะอาดพื้นผิวชิ้นงาน : ด้วยการเผา และนำมาแช่กรดเจือจาง
6. ลงยาถม : ด้วยการใช้ความร้อนเป่าละลายยาถมให้น้ำยาถมแล่นไปตามช่องลายที่ทำไว้ ต้องใช้ความระมัดระวังระหว่างลงยาถมให้น้ำยาถมแล่นเสมอกัน ไม่เป็นก้อนซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่างแต่ละคน โดยลงยาถมให้ทั่วทั้งชิ้นงาน โดยจะลงยาถม 2 รอบ โดยรอบแรกจะเป่าให้ร้อนให้ยาถมวิ่งทั่วร่องลายที่แกะสลักไว้ เพื่อไม่ให้เกิดตามด
7. ขัดชิ้นงาน : เมื่อยาถมเย็นลงแล้วนำมาขัดหยาบด้วยกระดาษทรายหยาบ จากนั้นขัดละเอียดด้วยกระดาษทรายที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้น แล้วจึงขัดเงาด้วยลูกผ้า (เครื่องขัด)
8. ขัดเงาชิ้นงาน : ด้วยดินขาว และดินแดง โดยใช้ดินแดงก่อนแล้วจึงมาขัดเงาด้วยดินขาว
9. เพลาลายหรือแรเงาชิ้นงาน : เป็นขั้นตอนสำคัญมาก ในการที่จะขับลวดลายที่สลักลงไปให้โดดเด่นโดยการใช้สิ่วสกัดให้เกิดมิติเป็นประกายแวววาว เห็นลวดลายที่ชัดเจน สร้างความงามให้กับงานเครื่องถม ด้วยการทำให้มีแสงเงามากยิ่งขึ้น