ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอ (ประยุกต์)

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ตัวซิ่น เป็นลายขอแบบลายโบราณดั่งเดิม ประยุกต์ลวดลายเป็นการมัดหมี่ย้อมด้วยครามผสมสีจากมะเกลือ ทำให้ได้สีครามที่เข้มขึ้นเกือบดำ ทำให้เส้นสีที่มีความพิเศษที่ผสมผสานได้อย่างลงตัวส่วนล่างเป็นลายดอกบัว
ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอ(ประยุกต์) ชิ้นนี้ มีความโดดเด่นทั้งลวดลายและสีสันที่ย้อม ซึ่งการทำให้สีครามเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำเงินเข้มโดยนำสีจากมะเกลือเข้าไป ทำให้ได้เส้นสีที่มีความพิเศษที่ผสมผสานอย่างลงตัว เป็นลายเอกลักษณ์ของมัดหมี่บ้านหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ความยาว 3.6 เมตร ความสูง 1.2 เมตร
แหล่งที่มา :
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง
วัสดุ :
ไหมพื้นบ้าน (ไหมน้อย) สีย้อมธรรมชาติ คือ คราม และมะเกลือ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2554
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้: ใช้เทคนิคทอมัดหมี่ และย้อมด้วยสีธรรมชาติ คือ คราม และมะเกลือ

ขั้นตอนการทอผ้าไหมมัดหมี่

  1. การเตรียมเส้นไหม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
  • การเตรียมไหมเส้นพุ่ง คือ การเลือกลายแล้วทำการวัดความยาวของฟันหมีฟืม เช่น ถ้าใช้ขนาดของฟันหวี 42 นิ้ว ให้ใช้โฮงหมี่ขนาดน้อยกว่าฟันหวี 1 เซนติเมตร เพื่อให้หัวหมี่มีขนาดสั้นกว่าความยาวของฟันหวี เพราะในขณะที่ทอผ้านั้น จะเกิดแรงตึงของเส้นพุ่ง ทำให้หน้ากว้างของฟันหวี 42 นิ้ว มีขนาดเท่ากับความยาวของหัวหมี่พอดี ส่งผลให้ผ้าเรียบเสมอกันทั้งผืน
  • การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) คือ การค้นหูกหรือค้นเครือ เป็นกรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยามตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ โดยไหมหนึ่งเครือจะทำเป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20 – 30 ผืน ( ผ้าไหม 1 ผืนยาวประมาณ 180 – 200 เซนติเมตร)
  1. การด่องไหม คือ การนำเส้นไหมดิบมาฟอกด้วยด่างจากขี้เถ้า เพื่อไม่ให้เส้นไหมมีไขมันเกาะเรียกว่า “การด่องไหม” จะทำให้เส้นไหมมีสีขาวนวล
  2. การมัดหมี่ คือ การมัดเส้นไหมในส่วนของเส้นพุ่งให้เกิดลวดลายตามที่ออกแบบไว้
  3. การย้อมสี คือ การคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้น ๆ หรือใช้สีเคมีตามสีที่ต้องการ นำมาต้มให้เดือด จากนั้นนำเส้นไหมชุบน้ำให้เปียก บิดพอหมาด กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นกัน แล้วจึงแช่น้ำย้อมสีที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้สักพัก แล้วนำไปผึ่งให้แห้งสนิท
  4. การแก้หมี่ คือ การแก้เชือกฟางที่มัดหมี่แต่ละลำออกให้หมดหลังจากการย้อมสี
  5. การทอผ้า คือ การนำเส้นไหมที่มัดหมี่แล้วมาทำการทอ โดยแบ่งเส้นไหมออกเป็น 2 ชุด  เส้นไหมยืน จะถูกขึงไปตามความยาวผ้า เป็นส่วนที่อยู่ติดกับกี่ทอ หรือแกนม้วนด้านยืน ส่วนเส้นไหมพุ่ง จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉากทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า ทั้งนี้การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมผ้าแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายชองผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้ ถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง
ดูรายละเอียด