หนังตะลุงรูปหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หนังตะลุงรูปหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน แกะเป็นรูปลิง มี 4 กรถืออาวุธประกอบด้วย  พระขรรค์ ตรีเพชร และจักร แสดงท่าหาวเป็นดาวเป็นเดือน มีลายไทยกนกประกอบ ลายดอกจัน ลายข้าวหลามตัด แสดงท่ากำลังเหาะ

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องหนัง
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 46 ซ.ม. สูง 70 ซ.ม.
วัสดุ :
หนังวัว สีเคมี ไม้ไผ่ เชือก
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

การแกะหนัง การฉลุลายหนัง และการลงสี โดยมีรายละเอียดแต่ละขั้นตอนประกอบดังนี้

  1. การเลือกหนัง : คือการเลือกหนังสัตว์ให้เหมาะสมกับรูปลักษณะ และรูปแบบการใช้งาน โดยหนังวัวจะใช้หนังสดๆ หรือหนังวัวที่เพิ่งชำแหละใหม่
  2. การเตรียมหนัง : เมื่อได้หนังมาจะนำไปขึงให้ตึง เลาะพังผืดออกให้หมด จากนั้นนำไปฝังทรายในลำคลองประมาณ 2 คืน โดยสังเกตและใช้เล็บจิกดูว่าหนังเริ่มเปื่อย แล้วจึงนำไปขูดขนออก จากนั้นนำไปทำความสะอาดด้วยน้ำแล้วนำไปตากลมในที่ร่ม
  3. การฟอกหนัง : ภูมิปัญญาดั้งเดิมในอดีต การฟอกหนังจะนำหนังที่ขูดหนังและนำไปตากลมแล้วไปแช่ในน้ำต้มผลส้มแขก หรือผลไม้รสเปรี้ยว ประมาณ 1-2 คืน เพื่อให้กรดจากผลไม้ตามธรรมชาติซึมเข้าไปในหนัง จากนั้นจึงนำมาล้างและขึงให้แห้งโดยนำไปตากลมอีกครั้ง ปัจจุบัน การฟอกหนังนิยมใช้น้ำส้มสายชูในการฟอก ซึ่งการฟอกหนังนี้จะช่วยให้หนังที่ได้ไม่เปื่อย ไม่พอง มีความคงทนมากยิ่งขึ้น เพื่อหนังตากลมแห้งสนิทแล้วสามารถเก็บรักษาไว้ใช้ได้นานข้ามปี โดยก่อนนำหนังมาแกะเป็นตัวหนังตะลุง จะนำหนังไปแช่น้ำสะอาดเพื่อให้หนังก่อนตัวลง ช่วยให้แกะได้ง่าย แล้วจึงนำไปขึงให้ตึงก่อนนำมาแกะตามขั้นตอนของช่างแต่ละคน
  4. การวาดลาย :  สามารถใช้แบบหนังที่มีการวาดหรือแกะเอาไว้แล้วมาทับลงบนแผ่นหนังที่ต้องการวาด จากนั้นใช้เหล็กเจียร(เหล็กเขียน) วาดขึ้นรูปตามต้นแบบ หรือหากช่างมีความชำนาญอาจใช้เหล็กเจียรวาดลายลงบนตัวหนัง ซึ่งสามารถลบออกได้ด้วยน้ำ
  5. แกะลายและตอกลาย : ใช้เหล็กตอกลาย (ตุ๊ดตู่) ตอกลงไปบนหนังที่เตรียมไว้ ตอกเดินลายให้ได้รูปตามต้องการ การตอกจะตอกด้วยค้อนบนเคียงไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ลูกหยี  เพราะเมื่อตอกแล้วเนื้อไม้จะไม่ยุ่ย ไม่เป็นขุยและเครื่องมือตอกไม่เสียหาย
  6. การลงสี : หนังตะลุงในอดีตจะใช้ก้านจากหรือหวายทุบปลายให้แบน นำมาแทนพู่กัน เนื่องจากหวายหรือไผ่สามารถขยี้ให้สีถึงเพื่อซึมเข้าหนังได้ สำหรับสีที่นิยมใช้ในอดีต คือ สีดำจากเขม่าดินหม้อหรือยางรัก สีเขียวตังแชจากสนิมเหล็ก และสีแดงจากชาด แต่ปัจจุบันนิยมใช้สีโปสเตอร์หรือสีผสมอาหาร เนื่องจากมีสีที่หลากหลาย หลังจากทาสีเสร็จจะนำไปเคลือบแล็คเกอร์ เพื่อให้สีคงคนและเก็บรูปหนังได้นานขึ้น
  7. การผูกยึดตัวหนัง : ต้องใช้ไม้ไผ่หรือไม่ทังเป็นไม้สำหรับผูกใช้เชิดเรียกว่า “ไม้ชี้ ไม้ตับ” นำมาผ่าเหลาแยกออกจากกันก่อนนำตัวหนังตะลุงเสียบเข้าไปในร่องระหว่างกลางแล้วร้อยด้วยด้าย โดยไม้ไผ่ต้องไม่แก่หรืออ่อนเกินไป เพื่อไม่ให้หนังเด้งตัวกลับเวลาเชิด


ข้อมูลแหล่งที่มา