ตะกร้าสานไม้ไผ่ลายดอกพิกุลลายไทย (แววมยุรา)

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม

ตะกร้าสานไม้ไผ่ลายดอกพิกุลลายไทย (แววมยุรา) สานด้วยไผ่สีธรรมชาติ ไผ่ย้อมสีแดง และสีเขียว

  • ขึ้นฐานตะกร้าด้วยลายเฉลว จบฐานด้วยเส้นหวายเดินจูงสันปลาช่อน
  • ขึ้นฐานให้ตั้งด้วยการวนหวาย จูงนาง 5 หวาย เพิ่มความแข็งแรง
  • ตัวตะกร้า สานลายดอกพิกุลลายไทย (แววมยุรา) ด้านซับในเป็นลายขิด จบขอบด้วยการจูงนาง 5 หวาย ใส่นมทับด้วยลายจูงนาง
  • ฝาตะกร้าขึ้นลายเช่นเดียวกับตัวฐานด้านในเป็นลายขิด เสริมความแข็งแรงด้วยไม้ไผ่เพื่อยึดกับหูตะกร้า ด้านนอกเป็นลายพิกุลลายไทย (แววมยุรา) ใส่หูแกนลวดผูกลายสันปลาช่อน
  • สานไผ่เป็นสลักล็อกตะกร้า
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องจักสาน
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 13 ซ.ม. ยาว 20 ซ.ม. ตัวกระเป๋าสูง 10 ซ.ม. รวมหูสูง 18 ซ.ม.
วัสดุ :
ไม้ไผ่นวล และหวายหอม
อายุ/ปีที่ผลิต :
2525
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้:  การจักสานไผ่สานละเอียด  การย้อมสีไผ่
วัตถุดิบ

  • ไม้ไผ่ : ใช้ไม้ไผ่นวล ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีคุณภาพดีเนื่องจากความชุ่มชื้นของพื้นที่ ซึ่งโดยธรรมชาติจะขึ้นอยู่ตามเชิงเขาใกล้น้ำตก ในกรณีที่มีปลูกต้องมีระบบการจัดการที่ดี อายุที่เหมาะสมในการใช้งาน 2-3 ปี โดยเลือกไม้ไผ่นวล ปล้องยาว ผิวละเอียดเนียน เนื้อเหนียวและอ่อนสามารถจักเป็นเส้นตอกได้ง่าย
  • หวาย : หวายหอม โดยธรรมชาติเนื้อละเอียด ผิวมันเนียนใช้สำหรับทำหูกระเป๋า โครงตะกร้า เป็นต้น
  • สีย้อมเส้นตอก :  ใช้สีธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ที่มีคุณภาพดี หลังจากการย้อมต้องล้างทาความสะอาดเส้นตอก

**กรรมวิธีสร้างสรรค์**
  1. การจัดเตรียมเส้นตอก คัดอายุของไม้ไผ่นวลอยู่ในช่วง 2-3 ปี ขนาดความยาวของปล้องช่วง 80 เซนติเมตร – 150 เซนติเมตร กระบวนการขั้นตอนการเตรียมเส้นตอกที่เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อมาจากอดีต เลือกใช้ไผ่นวลที่มีอายุไผ่เหมาะแก่การจักสานไผ่ละเอียด และใช้เพียงผิวและเนื้อไผ่ที่ลึกเพียง 1.5 มิลลิเมตร เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอ
  2. ตัดข้อขูดผิวนำไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 2 ชั่วโมง (สำหรับตอกแบน)หรือย่างไฟเพื่อไล่ความชื้นให้เส้นตอกอยู่ตัว ไม่ยืดไม่หด (สำหรับจักตอกตะแคง
  3. การกรีดตอก สำหรับตอกปื้น จะนำเส้นตอกที่ได้มากรีดด้วยปลายเหล็กแหลมตามความกว้างที่ต้องการขนาด 1 มิลลิเมตรฉีกให้เป็นเส้น แล้วนำเส้นตอกที่ได้ไปรูดผ่านฝากระป๋องเจาะรูขนาดต่างๆกัน จากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก  ที่เรียกว่าการชักเลียด ให้ได้เส้นตอกตามต้องการ โดยตัวผลิตภัณฑ์จะเป็นตัวกำหนดขนาดและขนาดของเส้นตอกที่จะใช้
  4. นำเส้นตอกมาหมักน้ำสะเดา 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันมอดและแมลง จากนั้นนำเส้นตอกไปย้อมสีธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ที่มีคุณภาพดี หลังจากการย้อมต้องล้างทำความสะอาดเส้นตอก แล้วนำเส้นตอกตากแดดให้แห้งสนิท โดยใช้เวลาในการเตรียมเส้นตอกประมาณ  2 สัปดาห์
  5. จักสานชิ้นงานตามรูปทรงของผลิตภัณฑ์
  • เริ่มต้นด้วยการขึ้นฐานตะกร้าด้วยลายเฉลว จบฐานด้วยเส้นหวายเดินจูงสันปลาช่อน
  • ขึ้นฐานให้ตั้งด้วยการวนหวาย จูงนาง 5 หวาย เพิ่มความแข็งแรง
  • ตัวตะกร้า สานลายดอกพิกุลลายไทย (แววมยุรา)  ด้านซับในเป็นลายขิด จบขอบด้วยการจูงนาง 5 หวาย ใส่นมทับด้วยลายจูงนาง
  • ฝาตะกร้าขึ้นลายเช่นเดียวกับตัวฐานด้านในเป็นลายขิด เสริมความแข็งแรงด้วยไม้ไผ่เพื่อยึดกับหูตะกร้า ด้านนอกเป็นลายพิกุลลายไทย (แววมยุรา) ใส่หูแกนลวดผูกลายสันปลาช่อน
  • สานไผ่เป็นสลักล็อกตะกร้า
  1. ตกแต่งชิ้นงานและตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนนำไปจัดแสดงหรือจัดจำหน่าย
ข้อมูลแหล่งที่มา