หัวโขนเจ้าเงาะ

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หัวโขนเจ้าเงาะ มีลักษณะเป็นหัวมนุษย์ สีม่วงแก่ มีเขี้ยวเล็กๆ ผมหยิก เป็นขมวดปมสีดำ หัวตาและหางตาเขียนเส้นสีแดง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องกระดาษ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 22 ซ.ม. ยาว 25 ซ.ม. สูง 25 ซ.ม. สูงรวมฐาน 40 ซ.ม.
วัสดุ :
กระดาษสา รัก หนังวัว สีอะคริลิค
อายุ/ปีที่ผลิต :
2536
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การปิดหุ่นด้วยกระดาษสา การวาดหน้าโขน การเลี่ยมขอบด้วยอะลูมิเนียม

กรรมวิธีและขั้นตอนการสร้างสรรค์หัวโขนสกุลช่างผดุงศิลป์
1. การทำหุ่นหัวโขน : ในอดีตหุ่นหัวโขนนิยมทำเป็นหุ่นดินเผาซึ่งมีขั้นตอนการทำที่ซับซ้อน เพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างสรรค์
หัวโขนในปัจจุบัน นายวิษณุได้เลือกนำปูนซีเมนต์มาใช้ เนื่องจากสามารถทำได้ง่ายกว่าและให้ความแข็งแรงเช่นเดียวกัน โดยปั้นหุ่นต้นแบบด้วยดินเหนียวก่อน แล้วจึงถอดหุ่นด้วยปูนพลาสเตอร์ จากนั้นจึงหล่อด้วยปูนซีเมนต์อีกครั้ง จึงได้หุ่นสำหรับปิดกระดาษต่อไป
2. การปิดหุ่น : เคี่ยวแป้งที่เตรียมไว้สำหรับปิดกระดาษ  โดยใช้แป้งข้าวเจ้าผสมน้ำสะอาดและผสมชินสีเล็กน้อย ใช้มือกวนผสมให้เข้ากัน ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนแป้งสุกดี นำแป้งที่เคี่ยวสุกทาลงบนกระดาษสาที่เตรียมไว้ให้ทั่วแล้วนำกระดาษสามาปิดทับ ลูบให้เรียบสนิทดีโดยการซ้อนกระดาษทั้ง 4 ชั้น จากนั้นนำกระดาษน้ำ (กระดาษที่เป็นเปลือกที่เหลือใช้จากที่หุ้มทองคำเปลว) ชุบน้ำปิดให้ทั่วหุ่นหนา 2 ชั้น แล้วนำกระดาษสาที่ทาแป้งเตรียมไว้ปิดลงให้ทั่วหุ่นทับเป็น 1 ชั้น ทำเช่นนี้ 4-6 เที่ยว แล้วใช้เครื่องมือกดบนกระดาษที่ปิดให้ทั่ว นำหุ่นที่ปิดกระดาษเสร็จแล้วไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท
3. การผ่าหุ่น - เย็บหุ่น : นำหุ่นที่ปิดกระดาษแห้งแล้วมาขีดเส้นด้านหลังหัวที่จะผ่า แล้วนำมากรีดผ่าตามรอยที่ขีดไว้จนขาดตลอดทั้งหัว แล้วนำหุ่นกระดาษที่ผ่าออกจากหุ่นปูนไปลอกกระดาษน้ำ ตัดแต่งหุ่นกระดาษที่ได้ให้เรียบร้อย ติดกาวรอยผ่าให้แนบสนิทแล้วเย็บหุ่นตามรอยผ่า โดยกะระยะให้ห่างพอประมาณด้วยลวดทองเหลือง เมื่อเย็บหุ่นแล้วตัดปลายลวดให้เรียบร้อยแล้วตอกพับลวดที่เย็บให้แนบสนิทกับหุ่นกระดาษ
4. การตีลาย - ติดลาย : นำสมุกที่ได้จากการเคี่ยวรักผสมเถ้าใบตอง หรือมะพร้าว หรือหญ้าคา ชัน น้ำมันยาง ให้เข้ากันดี แล้วนำไปตีลายในแม่พิมพ์หินสบู่ จากนั้นนำมาติดลงบนหุ่นหัวโขนโดยยึดรูปแบบการติดลายแบบโบราณด้วยรักแท้ เมื่อติดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปล่อยให้รักแห้งสนิท
5. การปิดทอง : ทาอีพอกซีรองพื้นในส่วนที่ต้องการปิดทองให้เป็นมัน ปล่อยไว้ให้แห่งสนิทแล้วจึงทาอีพอกซีสำหรับปิดทองอีกครั้ง เมื่ออีพอกซีแห้งพอดีที่จะปิดทองให้ใช้ทองคำเปลวปิดทับลงไปให้ทั่ว แล้วใช้แปรงค่อยๆ กระทุ้งให้ทองติด เมื่อทองติดดีแล้วให้ปัดผงทองที่เหลือออกให้หมด
6. การติดส่วนประกอบที่เป็นหนัง : ใช้หนังวัวหรือหนังควายตากแห้งธรรมดา ขูดขนออกให้เรียบร้อยแล้วนำมาลุตามแบบต่างๆ ของหัวโขนนั้นๆ เช่น ใบหู หางคิ้ว จอนหู นำมาติดประกอบกับหุ่นกระดาษโดยใช้ลวดทองเหลืองเย็บ แต่ถ้าเป็นหนังชิ้นใหญ่ๆ เช่น จอนหู ต้องเย็บลวดดามด้านหนังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
7. การปั้นหน้า : ใช้สมุกโขลกซึ่งประกอบด้วย แป้งเปียก ขี้เถ้า กระดาษทอง มาโขลกให้เข้ากันดีแล้วนำมาปั้นเสริมในส่วนต่างๆ ของหัวโขน เช่น จมูก คิ้ว ตา หู ปาก เพื่อให้มีรูปทรงที่ชัดเจนและสวยงาม เมื่อติดเสริมในส่วนต่างๆ แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทและปิดทับด้วยกระดาษว่าวอีกชั้นหนึ่ง
8. การทาสี – เขียนหน้า : สีที่ใช้ทาหัวโขน ต่องใช้ให้ถูกต้องตามขนบจารีตโบราณที่ครูอาจารย์กำหนดไว้ โดยหัวโขนจะมีการกำหนดรูปแบบที่ตายตัวทั้งลักษณะของหน้ายอด และสี  ทั้งนี้เมื่อเขียนเส้นไพรเสร็จแล้วจึงใช้สีดำเดินเส้นทับคู่กันไปกับเส้นไพรตลอดเส้นทางด้านในของเส้นไพร แล้วใช้สีดำขีดขวางเส้นไพรเป็นเส้นเล็กๆ ถี่ๆ ทับตลอดทั้งเส้นไพร ใช้สีชมพูทาสีปากให้ทั่วแล้วเหลือบด้วยสีแดง และสีลิ้นจี่ทางด้านใน
9.การติดพลอย : ใช้กาวลาแท็กซ์แตะลงไปในลายส่วนที่ต้องการติดพลอย แล้วนำพลอยมาติดให้ทั่วตามลายนั้นๆ แล้วปล่อยให้กาวแห้งสนิท

ทั้งนี้ผลงานหัวโขนของนายวิษณุจะเย็บขอบหัวโขนด้วยอลูมิเนียมทำให้ริมขอบหัวโขนมีความแข็งแรงทนทานมากยิ่งขึ้น ซึ่งในสมัยรุ่นของครูสำเนียง ผดุงศิลป์ จะใช้วัสดุสังกะสีซึ่งปัจจุบันสังกะสีมีคุณภาพเนื้อโลหะที่ด้อยกว่าแต่ก่อน นายวิษณุจึงเปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียมแทน

ข้อมูลแหล่งที่มา