ผ้าลาวครั่งเล่าเรื่องลายโบราณ

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าลาวครั่งเล่าเรื่องลายโบราณผืนนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องวิถีชีวิต และความเชื่อ ผ่านการทอเป็นผืนผ้า ใช้สำหรับทำถวายในวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ (วันปลุกธง) ผ้าทอไทครั่ง(ลาวครั่ง) คือ ผลผลิตที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของช่างทอผ้า ที่อาศัยองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลา หลายชั่วอายุคนโดยแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนผ้าซิ่นไทยครั่ง  และจะสะท้อนถึงความเชื่อของคนอุทัยธานี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากลาวครั่ง หรือ ลาวเวียง โดยเฉพาะลาย “นาค” ซึ่งเป็นความเชื่อของคนพื้นบ้านว่าเป็นสัตว์คุ้มครอง ที่คอยปกป้องเมืองเวียง (เมืองหลวงของลาวสมัยโบราณ) จึงได้ออกมาเป็นผ้าลายนาค เพื่อบอกเล่าให้ลูกหลานได้เคารพนับถือสืบต่อมา และลายผ้ายังบ่งบอกเกี่ยวกับเรื่อง ราววิถีชีวิต เช่น ลายขอกำ หมายถึงการยืนหยัดด้วยตัวเอง  ลายอ้อแอ้ หมายถึงเสียงของล้อเกวียนทีดังขึ้นระหว่างการอพยพถิ่นฐาน สายกว้าน หมายถึงการอพยพเป็นขบวน และลายอื่นๆ อีกมากมายที่แสดงถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวลาวครั่ง

เส้นฝ้ายทั้งหมดที่ใช้ในการทอได้มาจากการย้อมสีธรรมชาติ ได้แก่ เปลือกมะพูด คราม เปลือกนนทรี และเปลือกประดู่ ผ้าลาวครั่งเล่าเรื่องลายโบราณ เป็นผ้าที่มีการทอจกทั้งผืนแบ่งจังหวะการเล่าเรื่องราวผ่านลานจกที่ต้องอาศัยความชำนาญของผู้สร้างสรรค์ โดยลายแต่งหัวบน ทอจกลายดอกแก้ว คั่นด้วยทอขัดสลับ 5 สี รองด้วยลาย ดอกจันใหญ่  ลายช้าง  ลายหลักส่วนบนทอจกลายดอกตะวัน หรือลายตะแหล่ว ลายนาค 2 หัวเล็ก-ใหญ่ และลายนาค 1 หัว ส่วนคั่นลายทอจกลายดอกจันใหญ่ ลายม้า  ลายนก  ดอกจันใหญ่  และลายแมงมุม ลายหลักส่วนล่าง ทอจกลายต้นไม้โบราณ  ลายคน ลายทหารถือปืน ลายทหารม้า  ลายแคน และลายแต่งหัวล่างทอจกลายสร้อยสน

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ลาวครั่ง จังหวัดอุทัยธานี
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 60 ซม. ยาว 136 ซม.
วัสดุ :
ผ้าฝ้ายธรรมชาติ ย้อมสีธรรมชาติ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการทอจก คือ การสร้างลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า การจกนิยมใช้วัตถุที่มีความแหลมพอสมควร เช่น ไม้เหลาบางได้ขนาด ขนเม่น หรือนิ้วมือยกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายสีต่างๆ พุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะของลวดลาย โดยนายนิทัศน์ จันทร ผู้สร้างสรรค์มีทักษะและความชำนาญในการใช้การจกด้วยนิ้วมือ โดยใช้นิ้วมือล้วงหรือควักเอาเส้นด้ายที่ห้อยอยู่ขึ้นมาทำเป็นลวดลาย และสอดด้ายนั้นลงไปห้อยไว้ใต้ด้ายยืนตามเดิม โดยจะไม่มีการพันรอบด้ายเส้นยืน ทำเนื่องกันไปตลอดหน้าผ้า หรือจะเว้นระยะห่างเพื่อให้ได้ลวดลายอีกแบบก็สามารถทำได้

กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมเส้นฝ้าย : เส้นฝ้ายนิยมใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองที่มีทั้งฝ้ายพันธืสีน้ำตาลเข้ม และฝ้ายพันธุ์สีขาว ผ่านกระบวนการเตรียมเส้นฝ้ายแบบดั้งเดิมที่ทำด้วยมือจนได้เส้นฝ้ายที่มีคุณภาพดีเพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า (ส่วนใหญ่นิยมทอเป็นผืนผ้าที่ใช้สำหรับทำผ้าซิ่น) ทำให้ผ้าซิ่นลาวครั่งฝีมือของนายนิทัศน์ให้สัมผัสอ่อนนุ่ม ชายผ้าซิ่นทิ้งตัว ไม่แข็งกระด้าง และสวมใส่สบาย

2. การย้อมสี : กลุ่มผ้าทอลาวครั่งของกลุ่มบ้านภูจวง ยังคงรักษาวิถีการทอ การย้อมผ้าแบบโบราณด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ กระบวนการชั่ง ตวง วัด ทางวิทยาศาสตร์  กับสารช่วยย้อม (Mordant) ธรรมชาติให้ได้สีย้อมผ้าที่ให้ความคงทนไม่ซีดจาง เช่น น้ำขี้เถ้า สารส้ม โคลน สนิมเหล็ก น้ำปูนใส เป็นต้น เพื่อให้สีธรรมชาติที่ได้มีความคงทนกับเส้นใยธรรมชาติ สม่ำเสมอมีมาตรฐาน

3. การทอ : ในขั้นตอนการทอผ้าทอลาวครั่ง สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ก็คือเส้นไหม และ เส้นฝ้าย ใช้ไม้หลาบ (สำหรับแต่งเติมสี) เริ่มด้วยการขึงไหมเข้ากับกี่ทอผ้า เมื่อเข้าดีแล้วจึงนำกระสวยที่บรรจุไหมไว้ในร่องกลางของกระสวย เพื่อใช้สอดเส้นไหมในแนวขวาง ซึ่งการสอดในแต่ละครั้งต้องสอดให้กลับไปกลับมาอยู่เสมอหรือตามรูปแบบลายที่ผู้ทอต้องการ โดยในการสอดเส้นไหมพุ่ง 1 ครั้ง ช่างผู้ทอต้องเหยียบกี่ทอ 1 ครั้ง เพื่อให้ฟืม (ไม้จัดลายผ้า) กระทบกับเส้นไหมที่ทอให้แน่นเข้ากับลายที่ออกแบบไว้ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนทอเสร็จสิ่งสำคัญในการทอนี้คือ สามารถเพิ่มเส้นไหมพิเศษให้ลายผ้ามีความโดดเด่นได้ด้วยวิธีการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียวสอดขึ้นลงด้วยวิธีการใช้ไม้สอดไหมยืนขึ้นแล้วสอดเส้นไหมสีที่ต้องการเข้าไปจะทำให้ได้สีที่ดูฉูดฉาดเป็นเส้นลายเดียว โดยการทอผ้าคลุมไหล่ผู้ทอจะทอผ้าด้วยการทอขัดแบบธรรมดาสลับกับการทอจกตามจังหวะลวดลายบริเวณเชิงชายทั้ง 2 ด้าน

  • ลายแต่งหัวบน : ทอจกลายดอกแก้ว คั่นด้วยทอขัดสลับ 5 สี รองด้วยลาย ดอกจันใหญ่  ลายช้าง
  • ลายหลักส่วนบน : ทอจกลายดอกตะวัน หรือลายตะแหล่ว ลายนาค 2 หัวเล็ก-ใหญ่ และลายนาค 1 หัว
  • คั่นลาย : ทอจกลายดอกจันใหญ่ ลายม้า  ลายนก  ดอกจันใหญ่  และลายแมงมุม
  • ลายหลักส่วนล่าง : ทอจกลายต้นไม้โบราณ  ลายคน ลายทหารถือปืน ลายทหารม้า  ลายแคน
  • ลายแต่งหัวล่าง : ทอจกลายสร้อยสน


ข้อมูลแหล่งที่มา