หมอนสามเหลี่ยมลาวครั่ง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หมอนสามเหลี่ยมหรือหมอนขวางของชาวลาวครั่ง ถือเป็นผลผลิตที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตและมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของชาวลาวครั่งมาแต่โบราณ มีการนำมาใช้งานหลายรูปแบบทั้งการใช้ในครัวเรือน เป็นของฝากอันมีค่า รวมถึงยังเป็นของที่ใช้ในงานบุญและถวายแก่พระสงฆ์ จึงมีการสร้างสรรค์ลวดลายทอจกอย่างวิจิตรเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หมอนสามเหลี่ยมลาวครั่งใบนี้สร้างสรรค์ลวดลายด้วยการทอจก มีลายหลักคือลายหัวนาค  ลายขอขื่อซ้อน  แต่งลายดอกพิกุล และลายดอกแก้ว ลายประกอบคือ ลายเขี้ยวหมา  ลายกาบเบี่ยง ลายช้าง  และลายตุ้มลูกแก้วลายแต่งขอบเป็นลายเขี้ยวหมา ลายขาเปีย แต่งลายตู้ม  สีสันของเส้นฝ้ายมาจากการย้อมสีธรรมชาติทั้งหมด โดยได้สีจากการย้อมใบตะเคียนหนู  เปลือกต้นมะพูด  เปลือกต้นนนทรี  คราม และเปลือกประดู่

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ลาวครั่ง จังหวัดอุทัยธานี
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 22 นิ้ว สูง 12.50 นิ้ว
วัสดุ :
ผ้าฝ้ายธรรมชาติ ย้อมสีธรรมชาติ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการทอจก คือ การสร้างลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า การจกนิยมใช้วัตถุที่มีความแหลมพอสมควร เช่น ไม้เหลาบางได้ขนาด ขนเม่น หรือนิ้วมือยกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายสีต่างๆ พุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะของลวดลาย โดยนายนิทัศน์ จันทร ผู้สร้างสรรค์มีทักษะและความชำนาญในการใช้การจกด้วยนิ้วมือ โดยใช้นิ้วมือล้วงหรือควักเอาเส้นด้ายที่ห้อยอยู่ขึ้นมาทำเป็นลวดลาย และสอดด้ายนั้นลงไปห้อยไว้ใต้ด้ายยืนตามเดิม โดยจะไม่มีการพันรอบด้ายเส้นยืน ทำเนื่องกันไปตลอดหน้าผ้า หรือจะเว้นระยะห่างเพื่อให้ได้ลวดลายอีกแบบก็สามารถทำได้

กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมเส้นฝ้าย : เส้นฝ้ายนิยมใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองที่มีทั้งฝ้ายพันธืสีน้ำตาลเข้ม และฝ้ายพันธุ์สีขาว ผ่านกระบวนการเตรียมเส้นฝ้ายแบบดั้งเดิมที่ทำด้วยมือจนได้เส้นฝ้ายที่มีคุณภาพดีเพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า

2. การย้อมสี : กลุ่มผ้าทอลาวครั่งของกลุ่มบ้านภูจวง ยังคงรักษาวิถีการทอ การย้อมผ้าแบบโบราณด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ กระบวนการชั่ง ตวง วัด ทางวิทยาศาสตร์  กับสารช่วยย้อม (Mordant) ธรรมชาติให้ได้สีย้อมผ้าที่ให้ความคงทนไม่ซีดจาง เช่น น้ำขี้เถ้า สารส้ม โคลน สนิมเหล็ก น้ำปูนใส เป็นต้น เพื่อให้สีธรรมชาติที่ได้มีความคงทนกับเส้นใยธรรมชาติ สม่ำเสมอมีมาตรฐาน โดยหมอนสามเหลี่ยมลาวครั่งใบนี้ย้อมสีธรรมชาติ จากใบตะเคียนหนู  เปลือกต้นมะพูด  เปลือกต้นนนทรี  คราม และเปลือกประดู่

3. การทอ : ในขั้นตอนการทอผ้าทอลาวครั่ง สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ก็คือเส้นไหม และ เส้นฝ้าย ใช้ไม้หลาบ (สำหรับแต่งเติมสี) เริ่มด้วยการขึงไหมเข้ากับกี่ทอผ้า เมื่อเข้าดีแล้วจึงนำกระสวยที่บรรจุไหมไว้ในร่องกลางของกระสวย เพื่อใช้สอดเส้นไหมในแนวขวาง ซึ่งการสอดในแต่ละครั้งต้องสอดให้กลับไปกลับมาอยู่เสมอหรือตามรูปแบบลายที่ผู้ทอต้องการ โดยในการสอดเส้นไหมพุ่ง 1 ครั้ง ช่างผู้ทอต้องเหยียบกี่ทอ 1 ครั้ง เพื่อให้ฟืม (ไม้จัดลายผ้า) กระทบกับเส้นไหมที่ทอให้แน่นเข้ากับลายที่ออกแบบไว้ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนทอเสร็จสิ่งสำคัญในการทอนี้คือ สามารถเพิ่มเส้นไหมพิเศษให้ลายผ้ามีความโดดเด่นได้ด้วยวิธีการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียวสอดขึ้นลงด้วยวิธีการใช้ไม้สอดไหมยืนขึ้นแล้วสอดเส้นไหมสีที่ต้องการเข้าไปจะทำให้ได้สีที่ดูฉูดฉาดเป็นเส้นลายเดียว โดยการทอผ้าคลุมไหล่ผู้ทอจะทอผ้าด้วยการทอขัดแบบธรรมดาสลับกับการทอจกตามจังหวะลวดลายบริเวณเชิงชายทั้ง 2 ด้าน

  • ลายหลัก : ทอจกลายหัวนาค  ลายขอขื่อซ้อน  แต่งลายดอกพิกุล และลายดอกแก้ว
  • ลายประกอบ : ทอจกลายเขี้ยวหมา  ลายกาบเบี่ยง ลายช้าง  และลายตุ้มลูกแก้ว
  • ลายแต่งขอบ : ทอจกลายเขี้ยวหมา ลายขาเปีย แต่งลายตู้ม

**4. การประกอบตัวหมอน** : หลังจากได้ผ้าที่ทอตามขนาดหมอนแล้ว ให้นำมาเย็บกับใส้หมอนที่เตรียมไว้แล้วแต่ชนิดของหมอน จากนั้นสอยปิดด้านหน้าหมอนหนึ่งด้าน ก่อนนำมายัดนุ่นจนได้ความนุ่ม ความแข็ง และสัดส่วนที่ต้องการ เรียบร้อยแล้วจึงสอยปิดหน้าหมอนอีกด้านหนึ่ง โดยรูปแบบการสอยหน้าหมอน แต่ละบ้านหรือแต่และพื้นที่จะมีการจัดจังหวะและการวางลายของเส้นด้ายที่สวยงามแตกต่างกัน

ข้อมูลแหล่งที่มา