ผ้าซิ่นก่านโบราณ

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าซิ่นก่านโบราณ เป็นผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่งที่มีการผสมผสานการวางลายจกบนตัวซิ่นแบบโครงสร้างซิ่นก่านหรือซิ่นคาดก่านของกลุ่มไทลื้อในจักหวัดน่าน คือมีลักษณะการทอสลับริ้วสีพื้นและลวดลายที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคขิดหรือเทคนิคจกเป็นแนวขวางลำตัว สร้างสรรค์ด้วยเส้นฝ้ายและเส้นไหมที่ย้อมจากสีธรรมชาติทั้งหมด

  • หัวซิ่น : ทอพื้นลายขัด เส้นฝ้ายสีชมพูจากการย้อมด้วยครั่ง
  • ตัวซิ่น : ทอจกลายขอก่างรังแตน จัดวางลายแบบซิ่นก่าน สลับการทอพื้นลายขัด เส้นฝ้ายสีชมพูจากการย้อมด้วยครั่ง
  • ตีนซิ่น : ทอจกลายหลัก คือ ลายหลัก คือ ลายขอแมงงอด ลายกาบปีกบ่าง ซ้อนลายขอขื่อ ตรงกลางลายดอกตะวัน
    ลายประกอบ คือ ลายดอกบัวเครือ ลายเกี่ยวกอดลายเจียงปืน จบชายด้วยลายสร้อยสา ขอบตีนลายกว๊านหมาน้อย
    เส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ สีชมพูจากครั่ง  สีส้มจากคำแสด สีเหลืองจากใบหูกวาง และสีดำจากมะเกลือ
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ลาวครั่ง จังหวัดอุทัยธานี
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 178 ซม. สูง 110 ซม.
วัสดุ :
ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ แกมเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการทอจก คือ การสร้างลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า การจกนิยมใช้วัตถุที่มีความแหลมพอสมควร เช่น ไม้เหลาบางได้ขนาด ขนเม่น หรือนิ้วมือยกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายสีต่างๆ พุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะของลวดลาย โดยนายนิทัศน์ จันทร ผู้สร้างสรรค์มีทักษะและความชำนาญในการใช้การจกด้วยนิ้วมือ โดยใช้นิ้วมือล้วงหรือควักเอาเส้นด้ายที่ห้อยอยู่ขึ้นมาทำเป็นลวดลาย และสอดด้ายนั้นลงไปห้อยไว้ใต้ด้ายยืนตามเดิม โดยจะไม่มีการพันรอบด้ายเส้นยืน ทำเนื่องกันไปตลอดหน้าผ้า หรือจะเว้นระยะห่างเพื่อให้ได้ลวดลายอีกแบบก็สามารถทำได้

กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมเส้นใย
การเตรียมเส้นฝ้าย
: เส้นฝ้ายนิยมใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองที่มีทั้งฝ้ายพันธืสีน้ำตาลเข้ม และฝ้ายพันธุ์สีขาว ผ่านกระบวนการเตรียมเส้นฝ้ายแบบดั้งเดิมที่ทำด้วยมือจนได้เส้นฝ้ายที่มีคุณภาพดีเพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า (ส่วนใหญ่นิยมทอเป็นผืนผ้าที่ใช้สำหรับทำผ้าซิ่น) ทำให้ผ้าซิ่นลาวครั่งฝีมือของนายนิทัศน์ให้สัมผัสอ่อนนุ่ม ชายผ้าซิ่นทิ้งตัว ไม่แข็งกระด้าง และสวมใส่สบาย
การเตรียมเส้นไหม :  เส้นไหมที่นิยมนำมาใช้กับผ้าทอลาวครั่งคือไหมพันธุ์ไทยเนื่องจากมีความเลื่อมมันเฉพาะตัว อ่อนนุ่ม และมีน้ำหนัก  พันธุ์ไหมที่นิยมทำมาทำเส้นไหม ได้แก่ พันธุ์ทับทิมสยาม พันธุ์นางน้อย  พันธุ์นางลาย ไหมไทได้แก่ พันธุ์เหลืองไพโรจน์ เนื่องจากเป็นไหมที่เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตสูง และทนทานต่อโรค

2. การย้อมสี : กลุ่มผ้าทอลาวครั่งของกลุ่มบ้านภูจวง ยังคงรักษาวิถีการทอ การย้อมผ้าแบบโบราณด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ กระบวนการชั่ง ตวง วัด ทางวิทยาศาสตร์  กับสารช่วยย้อม (Mordant) ธรรมชาติให้ได้สีย้อมผ้าที่ให้ความคงทนไม่ซีดจาง เช่น น้ำขี้เถ้า สารส้ม โคลน สนิมเหล็ก น้ำปูนใส เป็นต้น เพื่อให้สีธรรมชาติที่ได้มีความคงทนกับเส้นใยธรรมชาติ สม่ำเสมอมีมาตรฐาน

3. การทอ : ในขั้นตอนการทอผ้าทอลาวครั่ง สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ก็คือเส้นไหม และ เส้นฝ้าย ใช้ไม้หลาบ (สำหรับแต่งเติมสี) เริ่มด้วยการขึงไหมเข้ากับกี่ทอผ้า เมื่อเข้าดีแล้วจึงนำกระสวยที่บรรจุไหมไว้ในร่องกลางของกระสวย เพื่อใช้สอดเส้นไหมในแนวขวาง ซึ่งการสอดในแต่ละครั้งต้องสอดให้กลับไปกลับมาอยู่เสมอหรือตามรูปแบบลายที่ผู้ทอต้องการ โดยในการสอดเส้นไหมพุ่ง 1 ครั้ง ช่างผู้ทอต้องเหยียบกี่ทอ 1 ครั้ง เพื่อให้ฟืม (ไม้จัดลายผ้า) กระทบกับเส้นไหมที่ทอให้แน่นเข้ากับลายที่ออกแบบไว้ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนทอเสร็จสิ่งสำคัญในการทอนี้คือ สามารถเพิ่มเส้นไหมพิเศษให้ลายผ้ามีความโดดเด่นได้ด้วยวิธีการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียวสอดขึ้นลงด้วยวิธีการใช้ไม้สอดไหมยืนขึ้นแล้วสอดเส้นไหมสีที่ต้องการเข้าไปจะทำให้ได้สีที่ดูฉูดฉาดเป็นเส้นลายเดียว

  • หัวซิ่น : ทอพื้นลายขัด เส้นฝ้ายสีชมพูจากการย้อมด้วยครั่ง
  • ตัวซิ่น : ทอจกลายขอก่างรังแตน จัดวางลายแบบซิ่นก่าน สลับการทอพื้นลายขัด เส้นฝ้ายสีชมพูจากการย้อมด้วยครั่ง
  • ตีนซิ่น : ทอจกลายหลัก คือ ลายหลัก คือ ลายขอแมงงอด ลายกาบปีกบ่าง ซ้อนลายขอขื่อ ตรงกลางลายดอกตะวัน
    ลายประกอบ คือ ลายดอกบัวเครือ ลายเกี่ยวกอดลายเจียงปืน จบชายด้วยลายสร้อยสา ขอบตีนลายกว๊านหมาน้อย
    เส้นไหมย้อมสีธรรมชาติ สีชมพูจากครั่ง  สีส้มจากคำแสด สีเหลืองจากใบหูกวาง และสีดำจากมะเกลือ


ข้อมูลแหล่งที่มา