ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่ง ตัวซิ่นลายหมี่คั่น ถ่ายทอดความงดงามและการผสมผสานทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่ง ในรูปแบบ “ผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อตีนจก” ตัวซิ่น ทอด้วยเทคนิคมัดหมี่ ส่วนตีนซิ่นทอจกตามกระบวนลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่งมีลายหลัก คือ ลายเอี้ยหัวนาคเล็ก ลายขอขือเล็ก ซ้อนด้วยลายกาบหงาย มีลายประกอบ คือ ลายเอี้ยสี่ไม้คั่นเครือใหญ่ ลายเกี้ยวกอด ลายเจียงปืน จบชายด้วยลายสร้อยสา ขอบตีนลายกว๊านเป็ดน้อย เส้นไหมย้อมด้วยสีธรรมชาติ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากมะพูด สีน้ำเงินจากคราม
เทคนิคที่ใช้ : ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่ง ตัวซิ่นลายหมี่คั่นต่อตีนจก เป็นผืนผ้าที่ประกอบขึ้นด้วย 2 เทคนิคคือ
1. เทคนิคมัดหมี่ คือกรรมวิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้าแบบหนึ่งที่เกิดจากการมัดเส้นด้ายที่จะนำไปใช้ในการทอผืนผ้า โดยมัดเส้นด้ายเป็นเปลาะๆ ตามลวดลายที่กำหนดไว้ให้แน่นด้วยวัสดุต่างๆ ตามแต่ละท้องถิ่นที่นิยมใช้ เช่น เชือกกล้วย เส้นด้ายฝ้าย ใบว่านสากเหล็กหรือต่อเหล่าอี้ (พืชชนิดหนึ่งที่ใช้ในชนเผ่าปกาเกอะญอ) เส้นเชือกพลาสติกหรือฟาง เพื่อปิดกั้นไม่ให้เส้นด้ายที่มัดไว้สัมผัสกับสีย้อม แล้วจึงนำเส้นด้ายที่มัดแล้วนั้นไปย้อมสี แล้วแกะเอาวัสดุที่มัดนั้นออก หากต้องการให้เกิดลวดลายที่มีหลายสี ก็ต้องมัดและย้อมสีทับหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลาย สีสันตามที่ต้องการ โดยเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมสีตามลวดลายที่กำหนดและสีสันที่ต้องการ จะถูกนำไปผ่านกระบวนการเตรียมเส้นไหมหรือเส้นฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผืนผ้า และเมื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าสำเร็จแล้วจะเกิดเป็นลวดลายและสีสันที่ต้องการ
หมี่คั่นหรือหมี่ข้อ เป็นโครงลวดลายของผ้ามัดหมี่ที่ทำการมัดหมี่เส้นพุ่ง เป็นการทอลายมัดหมี่สลับกับริ้วพื้น ลักษณะลวดลายจะเป็นแถบหรือมีเส้นแบ่งลวดลาย คั่นด้วยริ้ว ซึ่งอาจจะเป็นสีพื้นหรืออาจแทรกเส้นใยที่ควบแบบหางกระรอกเข้าไปด้วย โดยระหว่างเส้นคั่นจะมีลวดลายเล็กๆ เช่น ลายนาค ลายดอกแก้ว ดังนั้นกระสวยเส้นพุ่งที่ใช้ทอหมี่คั่นจึงใช้ประมาณ 3-4 กระสวย ประกอบด้วย กระสวยลายมัดหมี่ 1 กระสวย เส้นไหมสีพื้น 1-2 กระสวย และเส้นควบหางกระรอก 1 กระสวย เป็นต้น ดังนั้นในการทอหมี่คั่นผู้ทอจึงต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการสลับกระสวยให้ถูกต้อง
2. เทคนิคการทอจก คือ การสร้างลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า การจกนิยมใช้วัตถุที่มีความแหลมพอสมควร เช่น ไม้เหลาบางได้ขนาด ขนเม่น หรือนิ้วมือยกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายสีต่างๆ พุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะของลวดลาย โดยนายนิทัศน์ จันทร ผู้สร้างสรรค์มีทักษะและความชำนาญในการใช้การจกด้วยนิ้วมือ โดยใช้นิ้วมือล้วงหรือควักเอาเส้นด้ายที่ห้อยอยู่ขึ้นมาทำเป็นลวดลาย และสอดด้ายนั้นลงไปห้อยไว้ใต้ด้ายยืนตามเดิม โดยจะไม่มีการพันรอบด้ายเส้นยืน ทำเนื่องกันไปตลอดหน้าผ้า หรือจะเว้นระยะห่างเพื่อให้ได้ลวดลายอีกแบบก็สามารถทำได้
2. การย้อมสี : กลุ่มผ้าทอลาวครั่งของกลุ่มบ้านภูจวง ยังคงรักษาวิถีการทอ การย้อมผ้าแบบโบราณด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ กระบวนการชั่ง ตวง วัด ทางวิทยาศาสตร์ กับสารช่วยย้อม (Mordant) ธรรมชาติให้ได้สีย้อมผ้าที่ให้ความคงทนไม่ซีดจาง เช่น น้ำขี้เถ้า สารส้ม โคลน สนิมเหล็ก น้ำปูนใส เป็นต้น เพื่อให้สีธรรมชาติที่ได้มีความคงทนกับเส้นใยธรรมชาติ สม่ำเสมอมีมาตรฐาน
3. การทอ : ในขั้นตอนการทอผ้าทอลาวครั่ง สิ่งสำคัญที่ต้องใช้ก็คือเส้นไหม และ เส้นฝ้าย ใช้ไม้หลาบ (สำหรับแต่งเติมสี) เริ่มด้วยการขึงไหมเข้ากับกี่ทอผ้า เมื่อเข้าดีแล้วจึงนำกระสวยที่บรรจุไหมไว้ในร่องกลางของกระสวย เพื่อใช้สอดเส้นไหมในแนวขวาง ซึ่งการสอดในแต่ละครั้งต้องสอดให้กลับไปกลับมาอยู่เสมอหรือตามรูปแบบลายที่ผู้ทอต้องการ โดยในการสอดเส้นไหมพุ่ง 1 ครั้ง ช่างผู้ทอต้องเหยียบกี่ทอ 1 ครั้ง เพื่อให้ฟืม (ไม้จัดลายผ้า) กระทบกับเส้นไหมที่ทอให้แน่นเข้ากับลายที่ออกแบบไว้ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนทอเสร็จสิ่งสำคัญในการทอนี้คือ สามารถเพิ่มเส้นไหมพิเศษให้ลายผ้ามีความโดดเด่นได้ด้วยวิธีการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียวสอดขึ้นลงด้วยวิธีการใช้ไม้สอดไหมยืนขึ้นแล้วสอดเส้นไหมสีที่ต้องการเข้าไปจะทำให้ได้สีที่ดูฉูดฉาดเป็นเส้นลายเดียว