“โถจุกแป้น” เป็นภาชนะโถทรงแตงที่มีฝาปิด โดยจุกฝาด้านบนเป็นวงกลมแบน ใช้สำหรับสิ่งของต่าง ๆ อย่างเครื่องประทินผิว หรือใช้บรรจุอาหาร พื้นสีหลักเป็นสีเขียวและสีแดง บริเวณตัวโถและฝาตกแต่งด้วยลายบัวเจ็ดสี ซึ่งเป็น “ลายก้านต่อดอกในช่องกระจกกลีบบัว” แต่ละกลีบจะลงสีพื้นแตกต่างกันถึง 7 สี ได้แก่ สีขาว สีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน สีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีฟ้าอ่อน บริเวณขอบปากโถและฝาวาดด้วยลายลูกคั่นเป็นลายดอกสลับก้านขดบนพื้นแดงคั่นด้วยขอบสีขาว และกลางจุกฝาแป้นวาดลายดอกไม้สีแดง
เทคนิคที่ใช้: ใช้การเขียนสีบนเคลือบ
ขั้นตอนการสร้างสรรค์
1. การขึ้นรูปทรง : นำดินสำหรับปั้นเครื่องขาวประเภทเนื้อพอร์สเลน ซึ่งเป็นภาชนะสีขาวที่เกิดจากการผสมของดินขาว ดินดำ หินฟันม้า และหินทรายแก้ว โดยเริ่มต้นการเผาดิบด้วยอุณหภูมิประมาณ 780 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงชุบน้ำเคลือบและเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 1,250-1,285
องศาเซสเซียส จัดเป็นพอร์สเลนชนิดไฟต่ำ
2. การเขียนลาย : หลังได้ที่ได้ภาชนะเครื่องขาวแล้ว นำมาเริ่มต้นการแบ่งสัดส่วนลายโดยใช้สีทองมาวนขอบภาชนะบนแป้นหมุน เรียกว่า “การวนทอง” แล้วร่างลวดลายด้วยปากกาลงเส้นบาง ๆ ขั้นแรก สำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการเขียนลาย โดยเป็นการผูกลวดลายช่องกระจกกลีบบัวแบบจีน แล้วจึงลงลวดลายสีบนเคลือบด้วยพู่กันปลายแหลมทับลงไปบนช่องว่างตามลวดลายที่ร่างไว้
3. การเผา : หลังจากลงสีและลวดลายเรียบร้อย ให้นำเข้าเตาเผาไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งด้วยอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้สีติดทนบนเครื่องเบญจรงค์ เมื่อเสร็จสิ้นการเผาแล้วให้ทิ้งไว้ในเตาเผาจนกว่าอุณหภูมิจะเย็นลง จึงสามารถนำเครื่องเบญจรงค์ออกมาจากเตาแล้วตั้งทิ้งไว้ภายนอกจนกว่าอุณหภูมิจะเป็นปกติ