จะเข้

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม

ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด ปิดใต้ท้องด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า
ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด
ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูงเรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซ.ม. จนสูง 3.5 ซ.ม.เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยกระดูกสัตว์เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย ไม้ดีดควรยาวประมาณ 7-8 ซ.ม. มีสายยาวประมาณ 45 ซ.ม.

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องอื่นๆ
ขนาด :
ส่วนหัวกว้าง 39 ซ.ม. ยาว 120 ซ.ม. สูง 25 ซ.ม.
วัสดุ :
ไม้ขนุน
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมอญและได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก มีประวัติและมีหลักฐานครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงเป็นเครื่องนำอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่