โถพลูลายคังฮีพื้นเขียว

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“โถพลูลายคังฮีบนพื้นเขียว” มีลักษณะเป็นโถมีฝาปิด ทรงกลอง ในอดีตใช้สำหรับใส่พลู หรืออิฐ ปัจจุบันประยุกต์ใช้เป็นที่ใส่สิ่งของและเป็นของตกแต่ง
ลายหลักที่ตัวโถเขียนลายก้านต่อดอกพุดตานสีขาวและสีเหลืองในช่องกระจกทรงกลีบบัวตัดเส้นสีดำ บริเวณขอบฐานและปากโถวาดลายลูกคั่นสองชั้น คือ ลายประจำยามก้านขดสีขาว และลายกระจังใบเทศสลับจุดสีขาวบนพื้นเขียว ฝาโถวาดลายก้านต่อดอกพุดตานในช่องกระจกทรงกลีบบัวคว่ำ ลักษณะปากโถผายออก ตกแต่งขอบด้วยลายลูกคั่นสองชั้น คือ ลายประจำยามก้านขดสีขาว และลายกระจังใบเทศสลับจุดสีขาว จุกฝาโถทรงดอกบัวตูมวาดลายดอกไม้สีขาวสามกลีบเกสรสีเหลืองบนพื้นเขียว

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องดิน
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 18 ซ.ม. สูง 33 ซ.ม.
วัสดุ :
ดินสามจังหวัด เป็นดินสำหรับอุตสาหกรรมพอร์ซเลนที่เกิดจากการผสมของดินขาวในพื้นที่จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี และลำปาง, น้ำทอง, สีฝุ่นสำหรับสีบนเคลือบ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้
    •  ใช้สีดำวาดเส้นบนเครื่องขาว โดยใช้สูตรการผสมสีบนเคลือบเพื่อวาดเส้นให้คมชัดและทำให้สีติดทนนาน
ขั้นตอนการสร้างสรรค์
    •  การขึ้นรูปทรง : นำดินสามจังหวัด เพื่อขึ้นรูปภาชนะเป็นทรงโถพลู ซึ่งเป็นดินขาวที่ได้จากจังหวัดระนองและลำปาง ดินดำจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาผสมในอัตราส่วนตามสูตรที่กำหนด เพื่อขึ้นรูปภาชนะเป็นทรงโถพลู ประกอบด้วยตัวโถและฝาโถที่มีจุกทรงบัวตูม เป็นเครื่องขาวประเภทเนื้อพอร์ซเลน คือภาชนะสีขาวที่เกิดจากการผสมของดินขาว ดินดำ หินฟันม้า และหินทรายแก้ว ซึ่งเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี จะเริ่มต้นการเผาดิบด้วยอุณหภูมิประมาณ 780 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงชุบน้ำเคลือบและเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 1,250-1,285 องศาเซสเซียส จัดเป็นพอร์ซเลนชนิดไฟต่ำ มีคุณสมบัติเนื้อผิวแน่น ไม่ดูดซึมน้ำ นิยมนำมาผลิตเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทอง
    •  การเขียนลาย : หลังได้ที่ได้ภาชนะเครื่องขาวแล้ว นำมาเริ่มต้นการแบ่งสัดส่วนลายโดยใช้สีทองหรือสีบนเคลือบมาวนขอบภาชนะบนแป้นหมุน เรียกว่า “การวนทอง” จากนั้นจึงใช้ปากกามากำหนดช่องไฟ เรียกว่า “การตั้งตา” เพื่อให้ลวดลายมีขนาดเท่ากัน แล้วร่างลวดลายด้วยปากกาลงเส้นบาง ๆ ขั้นแรก สำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการเขียนลาย โดยผูกลวดลายแบบซ้ำหน่วยลายตามลักษณะการเขียนลายไทย ซึ่งโถพลูใบนี้โครงลวดลายแบบช่องกระจกสำหรับแบ่งหน่วยลายถึง 8 ช่อง แล้วจึงลงลวดลายสีดำด้วยพู่กันปลายแหลมทับลงไปบนลวดลายที่ร่างไว้ เมื่อลายเส้นสีดำแห้งสนิท ให้ลงสีบนเคลือบลงไปในช่องลายตามแบบที่วางไว้
    •  การเผา : หลังจากลงสีและลวดลายเรียบร้อย ให้นำเข้าเตาเผาไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งด้วยอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้สีติดทนบนเครื่องเบญจรงค์ เมื่อเสร็จสิ้นการเผาแล้วให้ทิ้งไว้ในเตาเผาจนกว่าอุณหภูมิจะเย็นลง จึงสามารถนำเครื่องเบญจรงค์ออกมาจากเตาแล้วตั้งทิ้งไว้ภายนอกจนกว่าอุณหภูมิจะเป็นปกติ

ข้อมูลแหล่งที่มา