จานรองจานใช้เทคนิคการกดดินให้เป็นแผ่นมีก้นลึกลงไป และสร้างมิติบนชิ้นงานด้วยการกดลาย และตกแต่งขอบจานด้วยการเขียนลายทองเป็นลายไทย จานรองจานใบนี้ใช้งานสำหรับชุดอาหารค่ำโดยจะใช้ร่วมกับจานใส โดยใช้รองใต้จานใสอีกชั้นหนึ่ง
เทคนิคที่ใช้ : การปั้นขึ้นรูป การกดลาย และการเขียนลายทอง
กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมดิน : ดินถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เนื้อดินที่เหมาะสมในการปั้นต้องมีลักษณะเหนียว มีสีนวลปนเหลืองหรือสีไม่ดำจนเกินไป เนื้อดินจับเป็นก้อนแน่นไม่ร่วนซุย แต่เดิมดินที่ใช้หาได้ทั่วไปในเกาะเกร็ด ปัจจุบันหายากขึ้นจึงมีการใช้ดินจากแหล่งอื่นอาทิ ดินบริเวณฝั่งตรงข้ามเกาะเกร็ด หรือดินจากจังหวัดปทุมธานี โดยดินที่ใช้ต้องเป็นดินที่อยู่ในช่วงปลายฤดูฝน (ประมาณเดือนตุลาคม -พฤศจิกายน) เพื่อให้ได้ดินที่อุ้มน้ำฝนไว้ทำให้เนื้อดินไม่แข็ง แล้วนำไปตากแดดตากฝนไว้ระยะหนึ่งซึ่งอาจจะมีการรดน้ำให้ดินชุ่มฉ่ำอยู่เสมอ เมื่อต้องการนำดินมาใช้ผู้สร้างสรรค์จะนำดินมาหมัก อาจทำโดยวิธีการดั้งเดิมคือการย่ำดินและเหยียบดิน เพื่อให้ได้ดินที่เหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน หรือการใช้เครื่องโม่ผสมดินและแบ่งดินสำหรับการใช้งานแต่ละครั้ง
2. การขึ้นรูปและสร้างสรรค์ชิ้นงาน
1) ออกแบบชิ้นงาน และคำนวณปริมาณดินให้เหมาะสม
2) ขึ้นรูปชิ้นงานโดยใช้แป้นหมุน นำดินที่ผ่านการนวดแล้วมาปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนโดยค่อยๆ ใช้มือบีบดินให้ขึ้นรูปตามต้องการ และใช้เทคนิคการกดดินเพื่อให้เนื้อดินเป็นแผ่นมีก้นลึกลงไปเหมาะสำหรับการเป็นจานรองจาน
3) สร้างสรรค์ลวดลายตามที่ได้ออกแบบไว้ โดยการใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบเองกดลงบนเนื้อดินเพื่อสร้างมิติให้เกิดบนชิ้นงาน
4) นำเข้าเตาเผาโดยใช้อุณหภูมิในการเผาประมาณ 800-1,000 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 1 วัน จากนั้นจึงพักเตาให้ความร้อนค่อยๆ คลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 วัน
5) นำชิ้นงานผึ่งลมไว้ประมาณ 5-7 วัน จึงนำมาวาดลายทองตามแบบร่าง แล้วลงสี โดยนายพงษ์พันธุ์ใช้เทคนิคการเขียนลายที่มีเอกลักษณ์ โดยการใช้เทคนิคการเขียนลายแบบลายรดน้ำ มีลักษณะคล้ายกับงานลงรักปิดทอง โดยออกแบบลายด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ด้วยการนำลายไทยแบบดั้งเดิมมาออกแบบให้เกิดลายใหม่อย่างลงตัว เช่น ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายกระจังลายกนก ลายประจำยาม เป็นต้น เมื่อเขียนลายเรียบร้อยนำชิ้นงานไปผึ่งให้สีแห้ง จึงเสร็จสมบูรณ์