พระมหาชนก

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานวัตศิลป์ไทย

พระมหาชนก เป็นชิ้นงานที่สร้างสรรค์ในเชิงศิลปะ ขึ้นรูปด้วยการปั้นมือ มีลักษณะเป็นอ่างปลายบาน เป็นเกลียวคลื่น ได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ตอนที่พระมหาชนกว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร โดยการสร้างสรรค์ส่วนปลายของชิ้นงานให้มีลักษณะเหมือนเกลียวคลื่นโดยใช้มีดจิ้มกลึงให้เป็นรูกลมๆ ขนาดเล็กๆ จนเกิดเป็นรูพรุนตั้งแต่ส่วนปลายถึงส่วนกลางชิ้นงาน ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการปั้นเพื่อให้เนื้อดินมีความบางและมีรูปทรงเสมือนจริง การสร้างรายละเอียดลงบนชิ้นงานผ่านรูกลมขนาดแตกต่างกัน การนำเข้าเตาเผาอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ชิ้นงานแตกหัก จนเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่สะท้อนการก้าวข้ามจากงานเครื่องปั้นดินเผาในลักษณะของใช้สู่งานศิลปะได้อย่างงดงาม

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องดิน
กลุ่มวัฒนธรรม :
มอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 39 ซม. สูง 22 ซม.
วัสดุ :
ดินมอญ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2558
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การปั้นขึ้นรูป การสร้างลายด้วยมีด

กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมดิน : ดินถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เนื้อดินที่เหมาะสมในการปั้นต้องมีลักษณะเหนียว มีสีนวลปนเหลืองหรือสีไม่ดำจนเกินไป เนื้อดินจับเป็นก้อนแน่นไม่ร่วนซุย แต่เดิมดินที่ใช้หาได้ทั่วไปในเกาะเกร็ด ปัจจุบันหายากขึ้นจึงมีการใช้ดินจากแหล่งอื่นอาทิ ดินบริเวณฝั่งตรงข้ามเกาะเกร็ด หรือดินจากจังหวัดปทุมธานี โดยดินที่ใช้ต้องเป็นดินที่อยู่ในช่วงปลายฤดูฝน (ประมาณเดือนตุลาคม -พฤศจิกายน) เพื่อให้ได้ดินที่อุ้มน้ำฝนไว้ทำให้เนื้อดินไม่แข็ง  แล้วนำไปตากแดดตากฝนไว้ระยะหนึ่งซึ่งอาจจะมีการรดน้ำให้ดินชุ่มฉ่ำอยู่เสมอ เมื่อต้องการนำดินมาใช้ผู้สร้างสรรค์จะนำดินมาหมัก อาจทำโดยวิธีการดั้งเดิมคือการย่ำดินและเหยียบดิน เพื่อให้ได้ดินที่เหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน หรือการใช้เครื่องโม่ผสมดินและแบ่งดินสำหรับการใช้งานแต่ละครั้ง

2. การขึ้นรูปและสร้างสรรค์ชิ้นงาน
1)  ออกแบบชิ้นงาน และคำนวณปริมาณดินให้เหมาะสม
2)  ขึ้นรูปชิ้นงานโดยใช้แป้นหมุน นำดินที่ผ่านการนวดแล้วมาปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนโดยค่อยๆ ใช้มือบีบดินให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะตามต้องการ โดยเทคนิคของนายพงษ์พันธ์คือการขึ้นรูปชิ้นงานแบบชิ้นเดียวตั้งแต่ฐานถึงยอด โดยมีต้องทำแยกชิ้นเหมือนการทำแบบดั้งเดิม ระหว่างการขึ้นรูปผลงานหากยังไม่เสร็จเรียบร้อยให้ใช้ผ้าเปียกหรือผ้าหมาดคลุมชิ้นงานไว้ เพื่อไม่ให้ดินแห้งแข็งเร็วก่อนกำหนด
3)  สร้างสรรค์ลวดลายตามจินตนาการโดยใช้มีดจิ้มกลึงให้เป็นรูกลมๆ ขนาดเล็กๆ จนเกิดเป็นรูพรุนตั้งแต่ส่วนปลายถึงส่วนกลางชิ้นงาน
4)  นำเข้าเตาเผาโดยใช้อุณหภูมิในการเผาประมาณ 800-1,000 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 1 วัน จากนั้นจึงพักเตาให้ความร้อนค่อยๆ คลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 วัน จึงเสร็จสมบูรณ์



ข้อมูลแหล่งที่มา