สิงห์ปักษา

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

สิงห์ปักษา เป็นชิ้นงานที่นายพงษ์พันธุ์พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้งานเครื่องปั้นดินเผาเป็นชิ้นงานเปลี่ยนรูปแบบจากการเป็นข้าวของเครื่องใช้ สู่การเป็นชิ้นงานเชิงไลฟ์สไตล์และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยใช้ดินขาวหรือดินที่ดูดซับน้ำหอมได้  เพื่อนำไปใช้วางตกแต่ง ใช้เป็นเครื่องกระจายกลิ่นน้ำหอม เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย นิยมใช้ในสปา บ้านพัก โรงแรมต่าง ๆ ใช้เทคนิคการปั้นลอยตัวเป็นรูปสิงห์มีปีก 2 ข้าง แกะลายไทยตกแต่ง  ทั้งตัว ด้านหน้าขา 2 ข้างถือธงชัยรูปสามเหลี่ยม

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องดิน
กลุ่มวัฒนธรรม :
มอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 5 ซม. ยาว 14 ซม. สูง 14 ซม.
วัสดุ :
ดินขาว จากจังหวัดราชบุรี ผสมออกไซด์ด้วยสูตรพิเศษ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การขึ้นรูปด้วยดินปั้นลอยตัว  การแกะลาย และการจิ้มลาย

กรรมวิธีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมดิน : เตรียมดินขาวซึ่งเป็นเนื้อดินมี่มีรูพรุนเล็ก มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นและเนียนละเอียดเหมาะสมกับการขึ้นรูป เนื่องจากเนื้อดินขาวเป็นเนื้อดินสำเร็จรูป ก่อนนำมาสร้างสรรค์ต้องนวดด้วยมือที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้เนื้อดินนิ่มและเนียนละเอียดให้พร้อมต่อการขึ้นรูป

2. การขึ้นรูปและสร้างสรรค์ชิ้นงาน
1)  ออกแบบชิ้นงาน และคำนวณปริมาณดินให้เหมาะสม

2)  ขึ้นรูปชิ้นงานโดยใช้แป้นหมุน นำดินที่ผ่านการนวดแล้วมาปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนโดยค่อยๆ ใช้มือบีบดินให้ขึ้นรูปเป็นภาชนะตามต้องการ โดยเทคนิคของนายพงษ์พันธุ์คือการขึ้นรูปชิ้นงานแบบชิ้นเดียวตั้งแต่ฐานถึงยอด โดยมีต้องทำแยกชิ้นเหมือนการทำแบบดั้งเดิม ทั้งนี้เนื่องจากดินขาวเป็นดินที่แห้งง่าย ระหว่างการขึ้นรูปต้องให้มือเปียกน้ำตลอดเวลา และระหว่างการขึ้นรูปผลงานหากยังไม่เสร็จเรียบร้อยให้ใช้ผ้าเปียกหรือผ้าหมาดคลุมชิ้นงานไว้ เพื่อไม่ให้ดินแห้งแข็งเร็วก่อนกำหนด

3)  เมื่อขึ้นรูปชิ้นงานเสร็จแล้วใช้เส้นลวดขนาดเล็กตัดชิ้นงานขึ้นจากแป้นหมุน นำไปวางผึ่งลมพักไว้ 12 ชั่วโมง หรือจนพิจารณาแล้วว่าชิ้นงานแห้งหรือหมาดพอที่จะแกะลายได้

4)  ใช้เครื่องมือในการทำลวดลายระหว่างขึ้นชิ้นงาน อาทิ ปลายไม้ เชือก หรืออุปกรณ์อื่นที่สร้างสรรค์สำหรับตกแต่งอย่างเหล็กลานนาฬิกา เป็นต้น นำมา ขีด ปาด เขียน ลวดลายบนภาชนะ โดยการสร้างสรรค์ลวดลายของเครื่องปั้นดินมอญจะมี 3 แบบ คือ ลายที่เกิดจากการขีด  ลายที่เกิดจากการฉลุลายโปร่ง และลายที่เกิดจากการกดเพื่อให้เกิดความนูนของเนื้อดิน ทั้งนี้ในระหว่างการขั้นรูปและการจิ้มลายระมัดระวังอย่าให้ชิ้นงานแห้งเกินไป เอกลักษณ์การสร้างสรรค์ผลงานของนายพงษ์พันธุ์คือการใช้ไม้ไผ่ที่ทำการแกะสลักลายลงบนปลายไม้ก่อนที่จะใช้ไม้ลายนั้นจิ้มลายลงบนชิ้นงาน โดยไม้ลาย 1 ชิ้น สามารถสร้างลวดลายได้หลากหลายลาย ทำให้สามารถสร้างลวดลายใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

5)  นำชิ้นงานเข้าเตาเผาโดยใช้อุณหภูมิในการเผาประมาณ 800 - 1,000 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 1 วัน จากนั้นจึงพักเตาให้ความร้อนค่อยๆ คลายตัวอย่างช้าๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 วัน จึงเสร็จสมบูรณ์

ข้อมูลแหล่งที่มา