“เขามอ” เป็นงานปฏิมากรรมขนาดย่อมที่รวบรวมเทคนิดต่าง ๆ ของการทำงานหัตถกรรมทองโบราณไว้หลายเทคนิค โดยย่อสัดส่วนเขามอให้มีขนาดเล็กและมีต้นไม้ในสมัยพุทธกาล ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
• ต้นโพธิ์ ใช้เทคนิคสลักดุน กิ่งก้านใช้เทคนิคดัดลวดประกอบลาย
• ใบ ใช้เทคนิคการตัด โดยการเขียนลายใบโพธิ์ลงบนแผ่นทอง แล้วตัดแผ่นทองทีละใบแล้วจึงนำมาประกอบกัน ในต้นโพธิ์ยังมีการทำรวงผึ้งโดยใช้เทคนิคดัดลวดประกอบไข่ปลาประดับพลอย
• พระพุทธรูป ทำมาจากเป็นหินใส รัตนชาติแท้ ส่วนฐานใช้เทคนิคสลักดุนเป็นฐานพระพุทธรูป
• สระบัว ประกอบด้วยดอกบัว และรอบ ๆ สระบัวยังมีต้นไทร ต้นจิกน้ำ ต้นทองหลาง และต้นเกตุ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ
เทคนิคที่ใช้
• สลักดุน ตัด ดัดประกอบไข่ปลา ประดับอัญมณี
ขั้นตอนการสร้างสรรค์
1. ร่างออกแบบชิ้นงานให้ได้สัดส่วนตามที่ต้องการ
2. ขึ้นรูปชิ้นงานโดยการรีดแผ่นทองและหล่อชิ้นส่วนแต่ละองค์ประกอบ
3. สลักดุนลวดลายบนแผ่นทอง ดัดประกอบไข่ปลา และตัดแผ่นทองให้ใบไม้ใบหญ้าขนาดเล็ก
4. ตกแต่งด้วยอัญมณีให้สวยงาม
5. นำชิ้นส่วนที่ขึ้นรูปเรียบร้อย มาประกอบเข้าด้วยกันให้มีลักษณะเป็น “เขามอ” ขนาดย่อมตกแต่งบนฐานรองที่เตรียมไว้