เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านเก่าแก่ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเชื้อสายมอญที่อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเกาะเกร็ดเป็นแหล่งชุมชนช่างผลิตเครื่องปั้นดินเผาชั้นเลิศมานานกว่า 200 ปี ในอดีตชาวมอญเน้นการปั้นข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือน อาทิ ครก กระถาง อ่าง โอ่ง ที่มีการปั้นในรูปแบบที่เรียบง่าย ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายวิจิตรสวยงามจะทำสำหรับมอบเป็นของกำนัลให้ผู้ใหญ่หรือสำหรับนำไปถวายวัด รวมถึงการทำขึ้นเพื่อให้ลูกหลายเก็บฝีมือบรรพบุรุษเอาไว้
ลักษณะโดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดคือ เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อดินไม่เคลือบ และมีความพรุนตัวมาก (Earthenware) มีสีส้มอ่อนไปจนถึงสีออกแดง หรือในบางครั้งมีการสร้างสรรค์ให้เป็นสีดำ ซึ่งเกิดจากการผสมแกรบลงไปในเนื้อดินและเผาด้วยไฟแรงสูง ในอดีตเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดทำจากดินเหนียวท้องนาผสมกับทรายแม่น้ำเพื่อเพิ่มความแกร่ง และเผาในเตาเผาแบบประทุน หรือเตาหลังเต่า มีช่องใส่ฟืนอยู่ด้านหน้า ใช้ฟืนจากไม้เบญจพรรณและไม้จากป่าชายเลนในการเผา ปัจจุบันดินเหนียวที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการทำเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดหายาก ช่างปั้นต้องสั่งซื้อดินเหนียวจากพื้นที่ใกล้เคียงอาทิ ดินเหนียวจากจังหวัดปทุมธานีมาใช้ และประยุกต์ใช้เตาเผาแบบใหม่ที่ใช้แก๊สหรือไฟฟ้าในการเผา ความโดดเด่นของเครื่องปั้นดินลายวิจิตรนั้นคืองานที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยดินเหนียวธรรมชาติ เป็นงานเครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบ ปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ และตกแต่งด้วยลวดลายสลักที่ละเอียดและประณีต ในภาษามอญจะเรียกงานลักษณะนี้ว่า “เนิ่ง” มีความหมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องบรรณาการที่มีลายวิจิตรงดงาม
เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดมีเทคนิคการสร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ 3 ประเภท คือ ลายที่เกิดจากการขีด ลายที่เกิดจากการฉลุโปร่ง และลายที่เกิดจากการกดเพื่อให้เกิดความนูนในเนื้อดิน ซึ่งในอดีตจะมีการตกแต่งลวดลายเพียงแค่การขีดและการกดนูนบริเวณคอและไหล่ของภาชนะเท่านั้น โดยลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดจะตกแต่งลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ลายกลีบบัวหรือลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายใบไม้ ลายดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้การสร้างสรรค์ลวดลายแต่เดิมมีการทำลวดลายแบบง่ายด้วยการแกะพิมพ์ลวดลายลงบนหนามทองหลางป่า หรือนมทองหลาง และจึงนำดินที่เป็นส่วนลายมากดทับ เกิดเป็นลวดลายสำหรับนำไปปะติดกับชิ้นงานอีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น
งานเครื่องปั้นดินเผาของครูศรีเมืองนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามแบบฉบับของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดที่ได้ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษชาวมอญ โดยเน้นผลงานที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาลายวิจิตร ซึ่งในอดีตช่างปั้นนั้นมิได้ปั้นเพื่อการค้า แต่ปั้นด้วยใจรัก ช่วงเวลายามว่าง แข่งขันกันสลักเสลาลวดลายเพื่อประลองฝีมือ หรือ ตั้งใจประดิดประดอยสลักลวดลายให้เครื่องปั้นดินเผานี้เพื่อเป็นเครื่องบรรณาการให้แก่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ขุนนางต่าง ๆ และพระสงฆ์ ซึ่งมีลวดลายที่ละเอียดประณีตงดงามเป็นพิเศษ ซึ่งในพิพิธภัณฑ์มอญที่เมืองเมาะละแหม่งจะเห็นเครื่องปั้นดินเผาลายวิจิตรสวยงามประวัติแสดงการเป็นของใช้ในราชสำนักของกษัตริย์มอญในอดีต สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ส่งผ่านภูมิปัญญามายังชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยบริเวณเกาะเกร็ดมาเป็นเวลากว่าสองร้อยปีจวบจนปัจจุบัน