ดาบทองหัวสิงห์

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

  • ฝัก : ไม้สักเหลาขึ้นรูป หุ้มด้วยทองแดงดุนลายไทย ดอกลักร้อย และใบเทศก้ามปูลงรักกปิดทอง
  • ใบมีด : เหล็กตีเป็นเนื้อเดียวกัน ขึ้นรูปหัวดาบหัวสิงห์ เจียรคมเต็มเล่ม ตอกลายไทยลงยันต์ ทั้ง 2 ด้าน
  • ด้าม : เป็นด้ามไม้สัก กลึงขึ้นรูป คั่นด้วยลูกแก้ว ปลายหัวบัว กระจัง และด้ามเป็นทองแดง ดุนลายไทย
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ใบมีดยาว 29.5 นิ้ว ท้องใบกว้าง 1.5 นิ้ว ด้ามยาว 15 นิ้ว กว้าง 2 นิ้ว ปลอกยาว 32.5 นิ้ว กว้าง 2.5 นิ้ว ยาวรวม 47 นิ้ว กว้าง 2.5 นิ้ว
วัสดุ :
ฝักทำจากไม้สักและทองแดง ด้ามทำจากไม้สัก ใบมีดทำจากเนื้อเหล็กกล้า
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ :  การตีเหล็กขึ้นรูป  การสลักดุน และการกลึงไม้
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน:
การเตรียมการ ในการเตรียมการตีมีดหรือทำมีดนั้น มีปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.เตรียมคน ต้องใช้คน 3 - 4 คนขึ้นไป โดยเฉพาะการตีมีดในขั้นตอนที่ 1 ( การหลาบ ) ต้องใช้คนที่มีพละกำลัง ร่างกายแข็งแกร่ง ตลอดจนต้องมีความสามัคคีและมีประสบการณ์มาก
2. เตรียมอุปกรณ์  เป็นอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับช่างตีมีดโดยเฉพาะ เช่น ทั่ง ค้อน พะเนิน คีม สูบลม เตาเผาเหล็ก ตะไบ เหล็กขูด เหล็กไช รางน้ำชุบมีด เขื่อนตัดเหล็ก ขอไฟ หินหยาบ-ละเอียด ทั่งขอ เถาวัลย์เปรียง หลักสี่ (ปากกา) กบ และเลื่อย เป็นต้น
3. เตรียมวัตถุดิบ วัสดุที่สำคัญในการตีมีดเป็นอันดับแรกได้แก่ เหล็กกล้า อันดับต่อไป คือ ถ่านไม้ไผ่ ซึ่งเป็นถ่านที่มีประสิทธิภาพสูงในการเผาเหล็ก ต่างจากถ่านจากไม้ทั่ว ๆ ไป และอันดับสุดท้ายคือ ไม้ที่ใช้ทำด้ามมีด

วัตถุดิบ :
1. เหล็กชนิดต่างๆ สำหรับการทำมีดอรัญญิก  ได้แก่

  • เหล็กกล้า หรือ Alloy tool steel ซึ่งมีคุณสมบัติคมแกร่ง สำหรับทำมีดทางการเกษตร อาวุธ และมีดที่ต้องการความคมทนทาน
  • เหล็กกล้าปลอดสนิม หรือเหล็กสแตนเลส จัดเป็นเหล็กปลอดสนิม ไม่สามารถชุบให้แข็งได้ ใช้ทำช้อน มีดโต๊ะ มีดบาง และมีดคว้านผลไม้ ไม่ขึ้นสนิม
    นอกจากนี้ยังมีเหล็กบางประเภทที่มีปริมาณคาร์บอนน้อยกว่าเหล็กกล้า แต่ก็มีปริมาณมากพอสมควรที่สามารถนำมาทำมีดที่ได้คุณภาพดีไม่แพ้กัน ได้แก่ ตะไบ แหนบรถยนต์ จานกลมไช้ไถนา แต่ที่นิยมนำมาใช้ทำมีดกันมากคือแหนบรถยนต์

2. ถ่านไม้ไผ่ : ไผ่ที่ใช้คือไผ่สีสุก หรือข้อไผ่ที่เหลือจากการทำก้านธูป โดยถ่านไม้ไผ่จะให้ความร้อนระอุทั่วถึงแกนในเหล็ก และไม่ปะทุเป็นสะเก็ดลูกไฟ เหมาะแก่การตีเหล็กร้อนโดยให้ความร้อนที่ไม่ร้อนแรงมากนักจนทำให้ช่วงเวลาในการคีบเหล็กไม่ทัน และอาจจะเสียหายละลายไปเสียก่อน ดังนั้นความร้อนในการตีเหล็กที่เหมาะสมคือ ความร้อนจากการเผาไม้ไผ่ที่ให้ความร้อนสม่ำเสมอ
3. ไม้ทำด้ามมีด : ไม้ที่นำมาทำด้ามมีดนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้ชิงชัน เป็นต้น ส่วนด้ามอลูมิเนียมนิยมทำเฉพาะมีดโต๊ะ มีดบาง และมีดหมูเท่านั้น ด้ามไม้ไผ่นิยมใช้ไผ่ป่าเพราะข้างในตัน ด้ามเขาใช้เขาควาย นิยมใช้กับการทำมีดขนาดเล็ก
4. ปลอกมีด : ทำจากวัสดุ 2 ชนิด คือ เหล็กแป๊ปดำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาวท่อนละ 6 เมตร และเศษเหล็กที่เหลือจากการตัดเหล็กวงด้าม มีด้ามไม้สำหรับมีดอีโต้ หรือเสียมดายหญ้า
5. อุปกรณ์อื่นๆ : ประกอบด้วย ทองเหลือง ใช้ทำคอมีด หมุดลวดสังกะสี ใช้ตอกยึดคอทองเหลืองหรือด้ามเข้ากับตัวมีด กาวแผ่น กากเพชร ใช้สำหรับทาลูกขัด น้ำมันมะพร้าวสำหรับทามีดกันสนิม แลคเกอร์สำหรับทาด้ามไม้  รวมถึงกระดาษทรายและเกลือ เป็นต้น

ขั้นตอนการทำมีดอรัญญิก :

  1. ตัดเหล็กให้ได้ขนาดตามความต้องการ เผาไฟความร้อน 200-300 องศาเซลเซียส  ให้เหล็กแดงออกชมพู  ไม่ให้สีแดงจัดจนเกินไปซึ่งจะทำให้เนื้อเหล็กกรอบหักง่าย สีที่เหมาะสมคือสีแดงเรื่อๆ คล้ายกับสีของลูกหนูอ่อน  แล้วนำออกมาจากเตาให้คนสามคนใช้พะเนินตีจนได้รูปหุ่น หรือกูน ( ชาวบ้านเรียกว่าการ  “หลาบ” เหล็ก )
  2. เมื่อได้หุ่นหรือกูนมีดแล้ว นำเอาเข้าเตาเผาไฟอีกครั้งหนึ่ง แล้วใช้คนคนเดียวตีด้วยค้อนเพื่อขึ้นรูปมีดให้ได้ตามความต้องการ (ชาวบ้านเรียกว่าการ “ซ้ำ” )
  3. เมื่อซ้ำได้รูปมีดแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วใช้ค้อนตีจนเนื้อเหล็กเรียบเป็นมันเพื่อให้เนื้อเหล็กเหนียวแน่น คมบาง ตัวมีดตรง (ชาวบ้านเรียกว่าการ “ ลำเรียบ หรือ ไห่”)
  4. เมื่อไห่ได้รูปมีดพอสมควรแล้ว นำมาแต่งด้วยตะไบ เพื่อให้ได้รูปเล่มสวยงามขึ้น (เรียกว่าการ “แต่ง”) ตกแต่งตามรูปดาบที่ต้องการ เช่น  ดาบหัวปลาหลด ฯลฯ
  5. เมื่อแต่งด้วยตะไบได้รูปแล้ว นำมาขูดคมให้บางโดยใช้เหล็กขูด เพื่อทำให้ตัวมีดขาวและบาง (เรียกว่าการ “ขูด”) ขูดให้ขาว ขัดให้ขึ้นเงาสวยงาม
  6. เมื่อขูดได้คมบางพอสมควรแล้ว ใช้ตะไบหยาบและตะไบละเอียดโสกตามตัวมีด เพื่อให้ตัวมีดขาวเรียบร้อย และคมจะบางยิ่งขึ้น (เรียกว่าการ “ โสก” ) ในขั้นตอนนี้สามารนำมาตอกลายไทยแต่งให้สวยงาม ที่คมมีดได้
  7. เมื่อโสกเรียบร้อยแล้วนำมาพานคม โดยใช้ตะไบละเอียดพานขวางของคมมีดเพื่อให้คมมีดบางเฉียบ (เรียกว่าการ “พานคมมีด”)
  8. เมื่อพานคมแล้วก็นามาชุบ “การชุบ” เป็นเรื่องสำคัญมาก ช่างต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ โดยนำมีดเข้าเผาไฟในเตาจนร้อนแดงตามความต้องการ ให้เหล็กแดงออกชมพู  ไม่ให้สีแดงจัดจนเกินไปซึ่งจะทำให้เนื้อเหล็กกรอบหักง่าย สีที่เหมาะสมคือสีแดงเรื่อๆ คล้ายกับสีของลูกหนูอ่อน  จะได้คมมีดเป็นฟันเล็กละเอียด เนื้อเหนียว หลุดยากและคมทนทาน แล้วชุบกับน้ำ ซึ่งถือเป็นสารชุบของมีดอรัญญิก โดยทำหน้าที่ดึงความร้อนออกไปจากเหล็กให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว ช่างตีมีดอรัญญิกจะชุบแข็งทั้งใบมีดพร้อมกันเพื่อให้ได้ความแข็งแกร่ง คงทนเสมอกันตลอดทั่วใบมีด
  9. เมื่อชุบแล้วนำมาฝนหรือลับ โดยใช้หินหยาบและหินละเอียดให้คมได้ที่ สมัยนี้ใช้หินกากเพชร (เรียกว่าการ “ลับคม”)
  10. เมื่อฝนหรือลับคมได้ที่แล้วจึงนำมาเข้าด้ามมีด แล้วใช้น้ำมันทาตัวมีดเพื่อกันสนิม เป็นเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำมีด ถ้าเป็นดาบมีฝักก็ทำฝักดาบให้เข้ากับตัวดาบต่อไป
    เอกสารอ้างอิง
  • ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). n.d. “งานศิลปหัตถกรรมประเภทมีดอรัญญิก.” www.sacict.or.th. Accessed Feburary 11, 2021.
ข้อมูลแหล่งที่มา