• “สร้อยคอลูกประคำ” มาจากคำว่า “ประคำ” หมายถึง ลูกกลมๆ ที่นำมาร้อยเป็นพวง เรียกโดยทั่วไปว่า “ลูกประคำ” อาจทำมาจากไม้หอม ไม้เนื้อแข็ง ลูกหวาย หรือหินสี โดยเจาะรูตรงกลาง ร้อยด้วยด้ายหรือเชือกเป็นพวง ใช้สำหรับเป็นเครื่องหมายการนับในเวลาบริกรรมภาวนาหรือสำหรับใช้เป็นเครื่องราง
• นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าสร้อยประคำมีต้นกำเนิดจากพระปัทมสัมภวะ ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนทิเบต ได้นำเมล็ดจากต้นโพธิจิตที่มีลักษณะกลม มาร้อยเป็นสายและผูกมัดที่ปลายเชือกเข้าด้วยกันเป็นพวง ซึ่งต้นโพธิจิตมาจากคำว่า “โพธิ์” หมายถึง “การรู้แจ้ง” และ คำว่า “จิต” หมายถึง “จิตวิญญาณ” เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเนปาลเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยเกิดจากความคิดริเริ่มที่จะหาเครื่องมือสำหรับนำทางให้ผู้คนในท้องถิ่นที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาพบหนทางแห่งความสงบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อใช้ในการตั้งสมาธิบำเพ็ญภาวนาสำหรับผู้ปฏิบัติ ต่อมาได้เรียกสายเมล็ดนี้ว่า “สายประคำ (Terela Mala)”
• สร้อยคอลูกประคำพวงหนึ่งนิยมมีจำนวนตั้งแต่ 105 107 108 หรือ 118 ลูก หรือน้อยกว่านั้นตามความต้องการ ส่วนใหญ่นิยมจำนวน 108 ลูก เพราะถือคติตามบทบริกรรมภาวนาคือ อิติปิโส 108 และผู้สวมใส่มักจะพกติดตัวไปในที่ต่างๆ โดยถือไปบ้าง ห้อยคอไปบ้าง ต่อมาได้มีการนำวัสดุมีค่า เช่น ทอง เงิน แก้ว มาใช้แทนวัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้ ทำเป็นเครื่องประดับทั้งสร้อยคอและสร้อยข้อมือเพื่อความสวยงาม