งานสลักดุนรูปพระนารายณ์ยุดนาค เป็นผลงานของนายสำเนียง ผดุงศิลป์ ที่สร้างสรรค์งานสลักดุนในรูปแบบงานทัศนศิลป์ สร้างสรรค์โดยการคัดลอกลายเส้นจากภาพถ่ายที่นำมาขยายขนาดให้พอดีกับเนื้อโลหะ และนำไปสลักเส้นตามแบบ และดุนให้มีมิติ ตกแต่งรายละเอียดด้านหน้าให้เหมือนจริง สีเนื้อโลหะสีทองแดง รมดำ
เทคนิคที่ใช้: การคัดลอกลาย และการสลักดุน
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน :
1. เขียนแบบ หรือออกแบบชิ้นงาน
2. ขึ้นรูปงาน แล้วแต่ว่าจะเลือกใช้โลหะชนิดใด ครูสำเนียงนิยมใช้ทองแดงเพราะมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างมิติให้กับเนื้องานได้ละเอียดและมีความแข็งแรงกว่าโลหะชนิดอื่น
3. ตัดแบบตามที่วาดไว้ ถ้าเป็นโลหะที่ตัดแบบไม่ได้ เลือกใช้วิธีวาดลายลงบนโลหะ
4. สลักลวดลายเส้นตามแบบ โดยการเผาโลหะที่ต้องการใช้ในการสลักดุน แล้วติดบนแผ่นชัน ทากาวลาเท็กซ์แล้ววางแผ่นกระดาษทาบลงบนแผ่นโลหะ รอให้กาวแห้งแล้วจึงสลักเส้น สำหรับการสลักเส้นนั้นใช้สิ่วปากโค้งที่มีขนาดกลางสลักไปตามเส้นเพื่อให้เกิดร่องลงไปในโลหะจนหมดทุกเส้น เผาให้ความร้อนออกจากชันแล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
5. สลักดุนลวดลายด้านหลังด้วยเครื่องมือทีมีให้ขึ้นลายตามแบบที่วางไว้ โดยก่อนการดุนให้ยกนูนขึ้นนั้น ให้ตอกสลักเส้นให้ชิดเส้นเดิมที่มองเห็นด้านหลังประมาณ 1 มิลลิเมตรทุกเส้น แล้วใช้สิ่วที่มีหน้าปากแบบสลักกดลงให้มีความลึกลงไป ถ้าเป็นการตอกไม้ต้องให้ลึกกว่าใบไม้ เป็นต้น ส่วนก้านใบจะไม่ลึกมากโดยตอกดุนลายให้ครบสมบูรณ์ทุกส่วน จากนั้นเผาให้ความร้อนแยกจากชัน แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
6. การสลักเส้นซ้ำด้านหน้า เป็นการสลักกดเส้นเพื่อให้ลวดลายยกขอบลายสูงขึ้น เพราะหลังจากการดุนด้านหลังแล้วจะทำให้เส้นลายด้านหน้าจางลงอันเกิดจากการยืดตัวของโลหะ ทำการสลักเส้นซ้ำโดยใช้สิ่วตรงและสิ่วโค้งสลัก ปากสิ่วต้องไม่คม ทำการสลักอีกรอบให้ทั่วทุกเส้น ก่อนดำเนินการตกแต่งรายละเอียดของลวดลาย หากลายด้านหน้าเห็นไม่ชัดให้พลิกกลับไปดุนลายอีกครั้งทำกลับไปมาด้านหน้าและด้านหลังอย่างนี้จนชิ้นงานเกิดมิติ
7. ตกแต่งรายละเอียดลวดลาย (ลูบลาย) เพื่อให้ลวดลายมีความอ่อนพลิ้วซับซ้อน แยกชั้น มีมิติเป็นธรรมชาติมากที่สุด การตกแต่งลวดลายด้านหน้าต้องใช้สิ่วหลากหลายขนาดเพราะพื้นที่ในการตกแต่งแต่ละส่วนไม่เท่ากัน สิ่วที่ใช้ส่วนมากมีปากสิ่วแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า บางครั้งก็เป็นทรงหยดน้ำ ขอบข้างไม่คม เพื่อตกแต่งให้มีการแยกชั้น ส่วนพื้นหรือช่วงไฟนั้น อาจใช้สิ่วย้ำพื้นสลักกดลงไปให้ต่ำลงอีกชั้น หรือใช้สิ่วจดปลายเล็กจดลงไปอีกครั้งเรียกว่า “จุดเม็ดทราย” และที่สำคัญคือ สิ่วเส้นตรงไว้ตัดเส้นในส่วนที่เป็นรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้มีความละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น
8. การประกอบชิ้นส่วน เป็นการนำชิ้นส่วนที่เตรียมทำไว้แล้วมาบัดกรีเข้าด้วยกันจนครบทุกชิ้น จากนั้นนำชิ้นงานไปต้มด้วยสารส้มให้ขาวสะอาด ล้างขัดทำความสะอาดแล้วนำไปลงตกแต่งตามการออกแบบของชิ้นงาน
9. ทำสีผิวชิ้นงาน คือการนำไปรมดำ หรือปิดทอง หรือชุบเคลือบ แล้วแต่แบบที่วางไว้