โพธิ์ ลิกอร์ ชิ้นที่ 2 ความเหมือนที่แตกต่าง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผลงาน โพธิ์ ลิกอร์ ชิ้นที่ 2 ความเหมือนที่แตกต่าง เป็นการสร้างสรรค์งานสลักดุนโลหะสู่งานทัศนศิลป์ของนายสำเนียง หนูคง มีที่มาจากแนวคิดการนำศิลปวัฒนธรรมจากเมืองนครศรีธรรมราชอย่างเครื่องถม และสลักดุน ที่มีการเรียนรู้และสืบทอดมานานมาสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยมีหัวนะโมซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังคู่เมืองลิกอร์ (ชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. 2061 อันเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยใช้เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช) ถ่ายทอดผ่านใบโพธิ์สื่อความเชื่อในพระพุทธศาสนา 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ที่มีขนาดแตกต่างกัน และมีความซับซ้อนในเรื่องราวตามความเชื่อ

นายสำเนียง หนูคง สร้างสรรค์ชิ้นงานเป็นรูปทรงอิสระ ภายในเป็นโครงสร้างที่ให้ลักษณะ 3 มิติ คือมีใบโพธิ์ที่มีความซับซ้อนและขนาดที่แตกต่างกัน มีรูปทรงของส่วนย่อยที่เป็นบรรยากาศเสริมเรื่องราวความละเอียดอ่อนของใบโพธิ์ ส่วนประกอบของรูปใบโพธิ์ภายในให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของที่ว่าง สงบ สบาย มีบรรยากาศของความสัมพันธ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว

  • ใบโพธิ์เล็กจะใช้วัสดุ อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง นำมาสลักดุน และขัดเงา
  • ใบโพธิ์ใหญ่ จะใช้อะลูมิเนียม สลักดุน ลายไทย สลักจุด สลักลายใบเมฆ หัวนะโม และฉลุลาย นำมาขัดเงา
  • ส่วนพื้น เป็นวัสดุอลูมิเนียม ขัดเรียบพ่นสีดำแดง ตกแต่งอัญมณี ไวท์ แซฟไฟร์
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 36 นิ้ว ยาว 21 นิ้ว
วัสดุ :
อะลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้:  การขึ้นรูปโลหะ และการสลักดุนฉลุพื้นลาย

กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงานส่วนองค์รวมและงานสลักดุน :
1. เขียนแบบ หรือออกแบบชิ้นงาน
2. ขึ้นรูปงาน แล้วแต่ว่าจะเลือกใช้โลหะชนิดใด ครูสำเนียงนิยมใช้ทองแดงเพราะมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างมิติให้กับเนื้องานได้ละเอียดและมีความแข็งแรงกว่าโลหะชนิดอื่น
3. ตัดแบบตามที่วาดไว้ ถ้าเป็นโลหะที่ตัดแบบไม่ได้ เลือกใช้วิธีวาดลายลงบนโลหะ
4. สลักลวดลายเส้นตามแบบ โดยการเผาโลหะที่ต้องการใช้ในการสลักดุน แล้วติดบนแผ่นชัน ทากาวลาเท็กซ์แล้ววางแผ่นกระดาษทาบลงบนแผ่นโลหะ รอให้กาวแห้งแล้วจึงสลักเส้น สำหรับการสลักเส้นนั้นใช้สิ่วปากโค้งที่มีขนาดกลางสลักไปตามเส้นเพื่อให้เกิดร่องลงไปในโลหะจนหมดทุกเส้น  เผาให้ความร้อนออกจากชันแล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
5. สลักดุนลวดลายด้านหลังด้วยเครื่องมือทีมีให้ขึ้นลายตามแบบที่วางไว้  โดยก่อนการดุนให้ยกนูนขึ้นนั้น ให้ตอกสลักเส้นให้ชิดเส้นเดิมที่มองเห็นด้านหลังประมาณ 1 มิลลิเมตรทุกเส้น แล้วใช้สิ่วที่มีหน้าปากแบบสลักกดลงให้มีความลึกลงไป ถ้าเป็นการตอกไม้ต้องให้ลึกกว่าใบไม้ เป็นต้น ส่วนก้านใบจะไม่ลึกมากโดยตอกดุนลายให้ครบสมบูรณ์ทุกส่วน จากนั้นเผาให้ความร้อนแยกจากชัน แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
6. การสลักเส้นซ้ำด้านหน้า เป็นการสลักกดเส้นเพื่อให้ลวดลายยกขอบลายสูงขึ้น เพราะหลังจากการดุนด้านหลังแล้วจะทำให้เส้นลายด้านหน้าจางลงอันเกิดจากการยืดตัวของโลหะ ทำการสลักเส้นซ้ำโดยใช้สิ่วตรงและสิ่วโค้งสลัก ปากสิ่วต้องไม่คม ทำการสลักอีกรอบให้ทั่วทุกเส้น ก่อนดำเนินการตกแต่งรายละเอียดของลวดลาย หากลายด้านหน้าเห็นไม่ชัดให้พลิกกลับไปดุนลายอีกครั้งทำกลับไปมาด้านหน้าและด้านหลังอย่างนี้จนชิ้นงานเกิดมิติ
7. การสกัดพื้นลาย  คือ การเอาพื้นของลวดลายออกไปให้เหลือแต่ตัวลายเกาะติดกันอยู่ การสกัดลายนั้นต้องใช้สิ่วพิเศษ  ปากสิ่วขัดเงามีความแหลมและคมที่สามารถตอกลงไปแล้วโลหะขาด โดยการสลักไปตามขอบของตัวลายให้พื้นลายขาด การสกัดต้องระวังในการช่วงการต่อหรือการเกาะยึดของปลายลาย ห้ามสกัดให้ขาดเพราะอาจทำให้ลายหลุดออกมาทั้งหมดได้ เมื่อสกัดเสร็จหมดแล้วให้เผาออกและเผาทำความสะอาดชันที่ติดอยู่ออกให้หมด
8. การประดับอัญมณี  เป็นการตกแต่งเพื่อให้เกิดความสวยงามและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ในการประดับอัญมณีในผลงานชิ้นนี้เลือกใช้การประดับฝังหุ้ม โดยทำตัวเรือนอัญมณีแยกต่างหาก และนำไปยึดกับชิ้นงาน
9. การทำสีพื้นหลัง เพื่อให้องค์ประกอบของชิ้นงานเชิงทัศนศิลป์มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยเลือกใช้เทคนิคการพ่นสี เริ่มจากการพ่นสีแดงให้ทั่วแผ่นแล้วพ่นทับด้วยสีดำบริเวณด้านข้างเพื่อให้เกิดความสว่างบนภาพ
10. การประกอบชิ้นส่วน เป็นการนำชิ้นส่วนที่เตรียมทำไว้แล้วมาบัดกรีเข้าด้วยกันจนครบทุกชิ้น จากนั้นนำชิ้นงานไปต้มด้วยสารส้มให้ขาวสะอาด ล้างขัดทำความสะอาดแล้วนำไปลงตกแต่งตามการออกแบบของชิ้นงาน
11. ทำสีผิวชิ้นงาน คือการนำไปรมดำ หรือปิดทอง หรือชุบเคลือบ แล้วแต่แบบที่วางไว้

ข้อมูลแหล่งที่มา