ผลงาน นะโม นะมัง มนต์ขลังแห่งทะเลใต้ เป็นการสร้างสรรค์งานสลักดุนโลหะสู่งานทัศนศิลป์ของนายสำเนียง หนูคง มีที่มาจากแนวคิดการนำศิลปวัฒนธรรมจากเมืองนครศรีธรรมราชอย่างเครื่องถม และสลักดุน ที่มีการเรียนรู้และสืบทอดมานานมาสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยหัวนะโมซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังคู่บ้านคู่เมือง ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ในทรัพย์สินเงินทองแห่งทะเลใต้ประดับอยู่บริเวณตรงการเพื่อเชื่อมโยงถึงความศรัทธา
ชิ้นงานใช้เทคนิคสลักดุนโลหะ สลักเส้นเครื่องถม เป็นการสร้างผลงานโดยสีที่เกิดขึ้นในชิ้นเป็นสีของเนื้อโลหะแต่ละชนิด ถ่ายทอดความมั่งคั่งจากทรัพย์สินเงินทอง ความสงบและความอุดมสมบูรณ์จากรัตนชาติต่างๆ ที่ส่งเสริมให้พบเจอแต่สิ่งที่ดีซึ่งก่อให้เกิดความสุข
ผลงาน นะโม นะมัง มนต์ขลังแห่งทะเลใต้ ออกแบบภายใต้หลักความสมดุลแบบสมมาตร มี “นะโม” สีเหลืองทองที่อยู่ตรงกลางทำให้เกิดความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ รองรับด้วยฐานทรงกระบอกแสดงถึงความมั่นคง ขนาบข้างด้วยแนวเส้นพลอนทรงกลมและสี่เหลี่ยมทองเหลืองแสดงถึงความสมดุล และมีพลังในการมอง
เทคนิคที่ใช้: การขึ้นรูปโลหะ การถมและการสลักดุน
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงานส่วนองค์รวมและงานสลักดุน :
1. เขียนแบบ หรือออกแบบชิ้นงาน
2. ขึ้นรูปงาน แล้วแต่ว่าจะเลือกใช้โลหะชนิดใด ครูสำเนียงนิยมใช้ทองแดงเพราะมีคุณสมบัติที่สามารถสร้างมิติให้กับเนื้องานได้ละเอียดและมีความแข็งแรงกว่าโลหะชนิดอื่น
3. ตัดแบบตามที่วาดไว้ ถ้าเป็นโลหะที่ตัดแบบไม่ได้ เลือกใช้วิธีวาดลายลงบนโลหะ
4. สลักลวดลายเส้นตามแบบ โดยการเผาโลหะที่ต้องการใช้ในการสลักดุน แล้วติดบนแผ่นชัน ทากาวลาเท็กซ์แล้ววางแผ่นกระดาษทาบลงบนแผ่นโลหะ รอให้กาวแห้งแล้วจึงสลักเส้น สำหรับการสลักเส้นนั้นใช้สิ่วปากโค้งที่มีขนาดกลางสลักไปตามเส้นเพื่อให้เกิดร่องลงไปในโลหะจนหมดทุกเส้น เผาให้ความร้อนออกจากชันแล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
5. สลักดุนลวดลายด้านหลังด้วยเครื่องมือทีมีให้ขึ้นลายตามแบบที่วางไว้ โดยก่อนการดุนให้ยกนูนขึ้นนั้น ให้ตอกสลักเส้นให้ชิดเส้นเดิมที่มองเห็นด้านหลังประมาณ 1 มิลลิเมตรทุกเส้น แล้วใช้สิ่วที่มีหน้าปากแบบสลักกดลงให้มีความลึกลงไป ถ้าเป็นการตอกไม้ต้องให้ลึกกว่าใบไม้ เป็นต้น ส่วนก้านใบจะไม่ลึกมากโดยตอกดุนลายให้ครบสมบูรณ์ทุกส่วน จากนั้นเผาให้ความร้อนแยกจากชัน แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด
6. การสลักเส้นซ้ำด้านหน้า เป็นการสลักกดเส้นเพื่อให้ลวดลายยกขอบลายสูงขึ้น เพราะหลังจากการดุนด้านหลังแล้วจะทำให้เส้นลายด้านหน้าจางลงอันเกิดจากการยืดตัวของโลหะ ทำการสลักเส้นซ้ำโดยใช้สิ่วตรงและสิ่วโค้งสลัก ปากสิ่วต้องไม่คม ทำการสลักอีกรอบให้ทั่วทุกเส้น ก่อนดำเนินการตกแต่งรายละเอียดของลวดลาย หากลายด้านหน้าเห็นไม่ชัดให้พลิกกลับไปดุนลายอีกครั้งทำกลับไปมาด้านหน้าและด้านหลังอย่างนี้จนชิ้นงานเกิดมิติ
7. การสกัดพื้นลาย คือ การเอาพื้นของลวดลายออกไปให้เหลือแต่ตัวลายเกาะติดกันอยู่ การสกัดลายนั้นต้องใช้สิ่วพิเศษ ปากสิ่วขัดเงามีความแหลมและคมที่สามารถตอกลงไปแล้วโลหะขาด โดยการสลักไปตามขอบของตัวลายให้พื้นลายขาด การสกัดต้องระวังในการช่วงการต่อหรือการเกาะยึดของปลายลาย ห้ามสกัดให้ขาดเพราะอาจทำให้ลายหลุดออกมาทั้งหมดได้ เมื่อสกัดเสร็จหมดแล้วให้เผาออกและเผาทำความสะอาดชันที่ติดอยู่ออกให้หมด
8. การประดับอัญมณี เป็นการตกแต่งเพื่อให้เกิดความสวยงามและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ในการประดับอัญมณีในผลงานชิ้นนี้เลือกใช้การประดับฝังหุ้ม โดยทำตัวเรือนอัญมณีแยกต่างหาก และนำไปยึดกับชิ้นงาน
9. การทำสีพื้นหลัง เพื่อให้องค์ประกอบของชิ้นงานเชิงทัศนศิลป์มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยเลือกใช้เทคนิคการพ่นสี เริ่มจากการพ่นสีแดงให้ทั่วแผ่นแล้วพ่นทับด้วยสีดำบริเวณด้านข้างเพื่อให้เกิดความสว่างบนภาพ
10. การประกอบชิ้นส่วน เป็นการนำชิ้นส่วนที่เตรียมทำไว้แล้วมาบัดกรีเข้าด้วยกันจนครบทุกชิ้น จากนั้นนำชิ้นงานไปต้มด้วยสารส้มให้ขาวสะอาด ล้างขัดทำความสะอาดแล้วนำไปลงตกแต่งตามการออกแบบของชิ้นงาน
11. ทำสีผิวชิ้นงาน คือการนำไปรมดำ หรือปิดทอง หรือชุบเคลือบ แล้วแต่แบบที่วางไว้
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงานส่วนงานถม :
ขั้นที่ 1 ขั้นผสมโลหะที่จะใช้เป็นพื้นภาชนะ ชั่งเงิน 95 ส่วน ทองแดง 5 ส่วน สำหรับหลอมเป็นโลหะผสมทำเครื่องถม
ขั้นที่ 2 ขั้นหลอมโลหะ ถ้าเป็นงานขนาดเล็กๆ จะใช้จอกหลอม ถ้าเป็นงานขนาดใหญ่ ที่โลหะมีน้ำหนักตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป จะใช้เบ้าหลอม ใช้เตาถ่าน หรือใช้เตาไฟฟ้าก็ได้ แต่เตาไฟฟ้าหลอมได้สะดวกกว่า การหลอมจะดีหรือใช้ได้เพียงใดนั้น ใช้วิธีการสังเกตสีของโลหะว่า ละลายผสมเข้ากันดีหรือไม่ ในการหลอมต้องใช้น้ำประสานทองใส่ผสมลงไปในขณะหลอมด้วย และใช้ถ่านไฟคนหรือกวน ถ้าโลหะผสมกันดีแล้ว จะเป็นสีม่วง และผิวเรียบเกลี้ยงเป็นเงามัน แล้วเทลงราง ออกรูปเป็นแผ่นเงิน
ขั้นที่ 3 ขั้นขึ้นรูป การทำโลหะให้เป็นแผ่น ใช้พะเนิน (ค้อนใหญ่) หรือค้อน ทุบแผ่ด้วยแรงคน แล้วนำแผ่นเงินมาดัดหรือตีแผ่ให้เป็นรูปภาชนะต่างๆ หรือรูปพรรณต่างๆ ตามที่ต้องการ ให้มีความหนาพอสมควร ในขั้นนี้ต้องใช้เวลานานมากกว่าขั้นอื่นๆ เพราะโลหะแข็งมาก และใช้มือทำตลอด โดยเครื่องถมนครแท้จะเป็นการทำด้วยมือทั้งหมดไม่ใช้เครื่องจักรช่วยเลย
ขั้นที่ 4 ขั้นเขียนลาย เมื่อสร้างรูปพรรณต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็เขียนลวดลายตามต้องการลงไปบนภาชนะ หรือรูปพรรณนั้นๆ (ด้วยหมึกพิเศษ หรือหมึกจีน) หลักการเขียนลวดลายนั้น ใช้วิธีแบ่งส่วนทั้งซ้ายและขวาให้เท่าๆ กัน โดยใช้วงเวียนแบ่งเส้น แบ่งช่วง และแบ่งครึ่ง เขียนไปเรื่อยๆ เช่น แบ่ง 1 เป็น 2, แบ่ง 2 เป็น 4, แบ่ง 4 เป็น 8 ฯลฯ จนได้ลวดลายละเอียดตามความเหมาะสม
ขั้นที่ 5 ขั้นแกะสลักลาย ก่อนแกะสลักลาย ช่างจะทำความสะอาด และแต่งผิวรูปพรรณให้เรียบ แล้วใช้สิ่วแบบต่างๆ สลักลวดลายด้วยมือ ตอกเป็นรอยลึกลงไปตามลวดลายที่เขียนไว้ โดยไม่ให้ผิวโลหะหลุดออกเป็นชิ้น และสลักให้มีรอยนูนดุนออกไปอีกด้านหนึ่ง ส่วนที่สลักลวดลายนี้ เป็นพื้นที่ที่จะถูกเคลือบด้วยยาถมต่อไปจนเต็ม
ขั้นที่ 6 ขั้นเก็บผิวรูปพรรณ ในขั้นสลัก รูปทรง และผิวรูปพรรณ อาจจะมีตำหนิบ้าง เมื่อสลักเสร็จจึงต้องแต่งผิวให้เรียบร้อย แต่งทรงรูปพรรณให้ได้ศูนย์หรือสมดุลเหมือนเดิม จากนั้นก็ทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง โดยขัดด้วยกรดอ่อนๆ ใช้กรดผสมกับน้ำ อัตราส่วน 1:4 ต้องขัดส่วนที่จะลงยาถมให้สะอาดเป็นพิเศษ ขัดจนขาวเป็นเงามัน ไม่มีคราบสีน้ำตาลเจือปนอยู่เลย
ขั้นที่ 7 ขั้นลงถม ต้องใช้น้ำยาถมที่เตรียมไว้แล้ว ละลายตัวด้วยความร้อนสูงพอสมควร โดยให้สังเกตว่าน้ำยาถมนั้น มีลักษณะเกือบแดง แล้วใช้น้ำยาถมที่ละลายแล้วนั้น แปะลงไปบนร่องลวดลายที่แกะสลักไว้ น้ำยาถมจะ “แล่น” (วิ่ง) หรือไหลไปตามร่องนั้น จนทั่ว โดยการใช้ไฟ “เป่า แล่น” การลงถมที่ดีนั้น ไม่ได้ลงครั้งเดียว ต้องลงถมถึง 2-4 ครั้ง ครั้งแรกลงแต่พอประมาณ
ขั้นที่ 8 ขั้นตกแต่งถม เมื่อลงยาถมกระจายเต็มลวดลายทั่วทุกส่วนดีแล้ว ก็ทิ้งรูปพรรณนั้นให้เย็น แต่ห้ามนำไปแช่น้ำ เพราะโลหะจะหดตัว และอาจจะแตกหรือถมหลุดออกเป็นชิ้นๆ ได้ เมื่อเย็นดีแล้ว ก็ใช้ตะไบถู หรือใช้เหล็กขูด แต่งยาถมที่ไหลเลอะบนส่วนที่ไม่ต้องการให้มียาถม ออกให้หมด แต่งผิวให้เรียบ ด้วยกระดาษทราย จนกระทั่งเห็นลวดลายหรือภาพปรากฏขึ้นชัดเจนดีหมดทุกส่วน และผิวของส่วนถมจะไม่มีรูพรุน หรือจุดที่เรียกว่า “ตา มด” ต้องมีถมอยู่เต็มสนิท ไม่มีช่องที่จะมองเห็นเนื้อโลหะพื้น ซึ่งเรียกว่า "พื้น ขึ้น"
ขั้นที่ 9 ขั้นปรับแต่งรูปทรง ในขณะที่ลงยาถมนั้น รูปพรรณ หรือภาชนะ ต้องถูกความร้อนสูงเผาอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จนกว่าจะเสร็จจากการลงยาถมแต่ละครั้ง ดังนั้นรูปลักษณะของรูปพรรณอาจบิดเบี้ยว คดงอไปจากเดิมไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้เมื่อเสร็จจากการลงยาถมแล้ว ต้องมีการปรับแต่งรูปใหม่ ให้มีรูปลักษณะคืนสภาพเดิม
ขั้นที่ 10 ขั้นขัดผิวและแกะแร เมื่อปรับแต่งรูปแล้ว พื้นผิวยังคงหยาบกร้านและด้าน ต้องขัดผิวด้วยกระดาษทรายละเอียด และถูด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อน จนผิวเกลี้ยง ขัดผิวอีกครั้งด้วยฝ้ายและยาขัดโลหะ ถ่านไม้ที่ใช้ถูเป็นถ่านไม้สุก คล้ายถ่านหุงข้าว แต่เนื้ออ่อน ส่วนมากต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่ถ้าไม่มี ช่างจะใช้ถ่านไม้สนแทน เมื่อเกลี้ยงได้ที่แล้ว ก็ขัดผิวทั่วไปทั้งหมดด้วยเครื่องขัด และยาขัดโลหะอีกครั้งหนึ่ง แล้วล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง หลังจากนั้นถึงขั้นการแกะแรลวดลาย หรือการแรเงาตกแต่งลวดลายให้สวยงาม เพราะลวดลายที่ปรากฏในขั้นที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเพียงภาพโครงสร้างภายนอกเท่านั้น เป็นภาพที่หยาบๆ ไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีรายละเอียดส่วนอื่นๆ ไม่มีเส้นตัดภายใน ให้เป็นลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม จึงต้องเป็นงานฝีมือของ “ช่าง แกะแร” ทำหน้าที่สลักหรือแกะแรส่วนละเอียดของภาพต่างๆ ให้ปรากฏชัดเจนขึ้น ลวดลายจะอ่อนช้อยงดงามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และความประณีตของช่างประเภทนี้โดยเฉพาะ
ขั้นที่ 11 ขั้นขัดเงา หลังจากแกะแรแล้ว จึงนำรูปพรรณถมเข้าเครื่องขัด ด้วยยาขัดอย่างละเอียด แล้วล้างให้สะอาดเช็ดด้วยผ้านุ่มๆ ทำความสะอาดให้เป็นเงางาม ด้วยฝ้ายขัดเครื่องถม ด้วยยาขัดเงา ขัดด้วยมือ ก็ถือว่าสำเร็จเรียบร้อย