ชุดกาน้ำชาศิลาดลทรงต้นไผ่

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม

ชุดกาน้ำชาศิลาดลทรงต้นไผ่ ขึ้นรูปด้วยวิธีการใช้น้ำสลิป (น้ำดิน) ในการเทหล่อจากต้นแบบ  เขียนลายดอกพิกุลใต้เคลือบ และตกแต่งด้วยน้ำทอง เพิ่มลูกเล่นการใช้งานด้วยการใช้เส้นหวายพันเกลียวบริเวณหูจับ ส่วนตัวแก้วขึ้นรูปด้วยการปั้นมือ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของไผ่ทอง เนื่องจากต้นไผ่มีทั้งความแข็งแรง และความอ่อนไหว ยากที่จะหักล้มเมื่อต้องเผชิญกับลมพายุ

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องดิน
ผู้สร้างสรรค์ :
วัสดุ :
ดินเหนียว ชนิดสโตน์แวร์ และเส้นหวาย
อายุ/ปีที่ผลิต :
2560
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : ตัวกาขึ้นรูปด้วยวิธีการใช้น้ำสลิป (น้ำดิน) ในการเทหล่อจากต้นแบบ  ตัวแก้วปั้นขึ้นรูปด้วยมือ และการเขียนลาย

กรรมวิธีการสร้างสรรค์

  1. เตรียมดินตามสูตรเพื่อให้มีความเหนียวในประมาณที่พอเหมาะสำหรับการขึ้นรูปด้วยวิธีการใช้น้ำสลิป (น้ำดิน) และการขื้นรูปด้วยการปั้นมือ
  2. ตัวกาขึ้นรูปด้วยวิธีการใช้น้ำสลิป (น้ำดิน) ในการเทหล่อจากต้นแบบแม่พิมพ์ลายไผ่ โดยนำดินมาละลายให้เป็นน้ำดินเหลวๆ เทใส่แบบพิมพ์หรือเบ้า กำหนดเนื้อดินของภาชนะหนาหรือบางอยู่ที่การควบคุมระยะเวลาที่น้ำดินอยู่ในแบบพิมพ์หรือเบ้า ถ้าใช้เวลามากเนื้อดินผลิตภัณฑ์ก็จะหนา ถ้าใช้เวลาน้อยเนื้อผลิตภัณฑ์ก็จะบาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของปูนพลาสเตอร์ที่ใช้ทำแบบพิมพ์หรือเบ้าด้วยว่าดูดซึมน้ำได้ดีเพียงใด
  3. ตัวแก้วขึ้นรูปบนแป้นหมุนเพื่อปั้นเป็นภาชนะต่างๆ ตามรูปแบบที่ต้องการ
  4. เมื่อชิ้นงานหมาดประมาณ 50% นำมาตกแต่งชิ้นงานให้เรียบด้วยการขูด และเก็บรายละเอียดชิ้นงาน
  5. ใช้ฟองน้ำชุบน้ำพอหมาด เช็ดเก็บรายละเอียด และตรวจดูความเรียบร้อยของชิ้นงานอีกครั้ง
  6. นำชิ้นงานที่เป็นดินดิบแห้งสนิทเข้าเตาเผาเพื่อเผาครั้งที่ 1 หรือเรียกว่าการเผาดิบ (Biscuit Firing) ที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส โดยให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ใช้เวลาเผาประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้ให้เย็นตัวตามธรรมชาติอีกประมาณ 12 ชั่วโมง
  7. นำชิ้นงานออกจากเตามาทำความสะอาดด้วยฟองน้ำชุบหมาดๆ เพื่อเช็ดฝุ่นผงเล็กที่เกาะผิวชิ้นงานออกให้หมด
  8. เขียนลายดอกพิกุลด้วยดินสอ
  9. ใช้สีเขียนลวดลายหรือแต้มตามที่ร่างไว้ สีที่นิยมใช้กับงานศิลาดลคือสีดำหรือสีน้ำตาล
  10. นำชิ้นงานที่เขียนสีลวดลายแล้วมาชุบน้ำเคลือบศิลาดลที่ผสมเตรียมไว้  ซึ่งแต่เดิมน้ำเคลือบสีเขียวเกิดจากการนำไม้รกฟ้า และไม้มะก่อ มาเผาเอาขี้เถ้า และดินหน้านาแต่ในปัจจุบันได้พัฒนามาใช้หินปูน หินเขี้ยวหนุมาน แร่เฟสสปาร์ สนิมเหล็ก และดินเหนียวแทน
  11. นำชิ้นงานไปเผารอบที่ 2 โดยเผาที่อุณหภูมิ 1,260 – 1,280 องศาสเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง การเผาในรอบนี้ใช้การเผาแบบลดออกซิเจน (Reduction Firing) แล้วปล่อยไว้ให้เย็นประมาณ 12 – 15 ชั่วโมง เพื่อให้ชิ้นงานเกิดสีเขียวแตกลายงา
  12. ตกแต่งชิ้นงานด้วยการลงน้ำทอง ซึ่งเป็นส่วนผสมจากทองคำแท้ในตำแหน่งต่างๆ ของชิ้นงาน ก่อนนำไปเผาครั้งที่ 3 ที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส  ประมาณ 5-6 ชั่วโมง การเผาในรอบนี้ต้องระวังไม่ให้เตาเผามีไอน้ำหรือความชื้นโดยเด็ดขาด เนื่องจากความชื้นหรือไอน้ำจะส่งผลต่อการเผาน้ำทอง ทำให้น้ำทองที่เขียนลงบนชิ้นงานไม่เงางาม  และตกแต่งชิ้นงานให้เรียบร้อย


ข้อมูลแหล่งที่มา