“ลูกข่างเดือยตะปู” เป็นลูกข่างประเภทหนึ่งที่พบมากทั้งภาคกลางและทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น ชาติพันธุ์ม้ง เป็นต้น เป็นของเล่นพื้นบ้านที่นับว่าเป็นหนึ่งในของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดของประวัติศาสตร์โลก และมีบทบาทในทางมิติวัฒนธรรมนอกเหนือจากการเป็นของเล่นเพื่อความสนุกสนาน ได้แก่ การพยากรณ์อากาศ หรือการแข่งขันกีฬา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 ลูกข่างได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในสี่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ลักษณะการเล่นลูกข่าง เริ่มจากการใช้เชือกพันลูกข่างจากปลายเดือยขึ้นมาที่ลูกข่าง และถือชายเชือกไว้ระหว่างซอกนิ้วชี้และนิ้วกลาง โดยนิ้วหัวแม่มือรองรับปลายเดือย เพื่อขว้างลูกข่างให้ตกพื้น แรงส่งจากการเหวี่ยงทำให้เกิดแรงหนีศูนย์กลาง ทำให้ลูกข่างหมุนรอบตัวด้วยแรงที่เท่ากันทุกทิศ ลูกข่างจึงหมุนคงสภาพในระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีแรงกระทำจากวัตถุอื่น หรือแรงต้านอากาศและแรงเสียดทานมีมากกว่า ทำให้ทิศทางการหมุนช้าลง ถือเป็นของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ ผู้เล่นจึงนิยมแข่งขันกันที่ความนานของการหมุนลูกข่าง หรือการชนลูกข่างกัน ซึ่งเรียกว่า “การโจ๊ะ” หมายถึงการกระแทก ทำให้ลูกข่างของฝ่ายตรงข้ามเสียหาย หยุดหมุน หรือกระเด็นออกนอกแนวเส้นวงที่กำหนดไว้ เพื่อวัดความแข็งแรงของลูกข่างในการทรงตัว