หัวโขนหนุมาน

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หัวโขนหนุมานมีลักษณะเป็นหน้าวานรสีขาว เจาะตา หัวโล้น สวมมาลัยทอง ปากอ้า มีเขี้ยวแก้วอยู่กลางเพดาปาก ประดับด้วยพลอยเทียมสีขาว

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องกระดาษ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ไทยภาคกลาง
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 27 ซ.ม. ยาว 30 ซ.ม. สูง 30 ซ.ม. (รวมฐาน สูง 46 ซ.ม.)
วัสดุ :
กระดาษสา กระดาษน้ำตาล แผ่นทองคำเปลว (วิทยาศาสตร์) สีอะครีลิค เพชร พลอยประดับ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การปิดหุ่นด้วยกระดาษสา การปั้นหน้าโขน การกระแหนะลาย การเขียนหน้าโขน และการประดับพลอย

กรรมวิธีและขั้นตอนการสร้างสรรค์หัวโขน:
1. การเตรียมหุ่น : หุ่นต้นแบบถือเป็นหุ่นที่จะใช้กระดาษข่อย หรือกระดาษสาปิดทับให้ทั่วแล้วถอดเป็นหัวโขน แต่เดิมหุ่นต้นแบบทำด้วยดินปั้นมาเผาไฟจนเนื้อแดง จนดินกลายสภาพเป็นดินสุกแข็งแกร่ง ทนทาน กับหุ่นต้นแบบที่ทำด้วยไม้กลึงเป็นโครงหัวโขน ปัจจุบันหุ่นต้นแบบทำด้วยปูนซิเมนต์หรือปูนปลาสเตอร์ ผสมแป้งเปียกตามสูตรโบราณ นำกระดาษสามาแช่น้ำ จากนั้นขึ้นรูปหุ่นตามแบบ หรือที่เราเรียกว่าการปิดหุ่น เป็นการปิดกระดาษทับลงบนหุ่นเรียกว่าการพอกหุ่น หรือปิดหุ่นโดยจะปิดกระดาษทับประมาณ 10 ชั้นให้หนาพออยู่ได้หลังจากถอดศีรษะออกจากหุ่น  จากนั้นจึงถอดหุ่นออกคือการเอาศีรษะกระดาษออกจากหุ่นโดยใช้มีดปลายแหลมกรีดศีรษะกระดาษให้ขาดแล้วจึงถอดออกจากต้นแบบ  แล้วเย็บประสานให้สนิทแล้วปิดกระดาษทับให้เรียบร้อย  โดยศีรษะกระดาษนี้จะเรียกว่า “กะโหลก” หรือ “โกลน”

2. การปั้นหน้าหรือการกระแหนะลาย :  เมื่อได้ “กะโหลก” หรือ “โกลน” แล้ว กระบวนการต่อมาคือการปั้นหน้าโขนโดยการนำรักตีลาย (ส่วนผสมของยางรัก ผงสมุกใบตองแห่ง น้ำมันยาง และปูนแดง ตามสูตรของผู้ทำ) มาผสมผสมกันในภาชนะแล้วนำไปกวนบนไฟอ่อนๆ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนนำรักตีลายมาใช้ต้องนำมาทุบด้วยค้อนให้เนื้อรักแน่นก่อนแล้วจึงนำมานวดคลึงเป็นเส้นกลมเพื่อใช้ปั้นหน้าให้สัดส่วนรูปหน้าที่มีความชัดเจน มีมิติมากขึ้น ด้วยการปั้นแต่งขึ้นรูปคิ้ว ตา จมูก ปาก จนเป็นรูปร่าง หรือนำมากระแหนะลาย คือการกดลายในแม่พิมพ์หินสบู่ โดยใช้รักเทือก (รักตีลายผสมน้ำมันยางให้มีความเหลวมากกว่ารักตีลาย) สำหรับเป็นกาวใช้ในการติดลวดลายบนตำแหน่งที่เป็นเครื่องศิราภรณ์ เช่น ประดับส่วนเกี้ยวรักร้อย ฯลฯ และจัดทำส่วนหูสำหรับเศียรยักษ์ลิงพระและนางที่ปิดหน้า
ทั้งนี้รักตีลายนั้น เมื่อแข็งตัวแล้วจะคงรูปเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหลังจากเคี่ยวรักได้ที่แล้ว จะนำมาปั้นเป็นแท่งกลมยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้ปูนแดงผสมน้ำทาหุ้มให้ทั่ว ห่อด้วยใบตองเก็บไว้ให้มิดเก็บสำหรับใช้สำรองต่อไป

3. การประดับตกแต่ง : เมื่อได้หัวหุ่นที่ประดับลวดลายต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะใช้รักน้ำเกลี้ยง (ได้มาจากการนำน้ำรักมาเคี่ยว และกรองให้รักงวดลงไม่เหลวจนเกินไป จนได้มาแต่เนื้อรักบริสุทธิ์เพื่อใช้สำหรับการทาลงพื้นเพื่อปิดทอง) ทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่ต้องการให้เป็นสีทองคำ  ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วนำทองคำเปลวมาปิดทับให้ทั่ว ประดับกระจกหรือพลอยกระจกเพื่อให้เกิดประกายแวววาว กระจกที่ในการทำหัวโขนแบบโบราณคือกระจกเกรียบ ซึ่งในปัจจุบันหายากและมีผู้ทำน้อยราย ช่างทำหัวโขนในปัจจุบันจึงเลือกใช้พลอยกระจกประดับแทน จากนั้นตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการเป็นการเขียนสีและเส้นในรายละเอียดต่างๆ ตามเอกลักษณ์ของหัวโขน

ข้อมูลแหล่งที่มา