กระเป๋าย่านลิเภาแบบถือทรงรีสีน้ำตาล

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

กระเป๋าย่านลิเภาแบบถือทรงรีสีน้ำตาล สร้างสรรค์ขึ้นจากย่านลิเภาเปลือกสีน้ำตาล มีรูปทรงโค้งมนร่วมสมัย ตกแต่งด้วยเส้นเงินคาดรอบใบ ประดับเพชร ตัวล็อกทำด้วยงาช้างแกะสลัก

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องจักสาน
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 10 ซ.ม. ยาว 16.25 ซ.ม. หนา 6.25 ซ.ม.
วัสดุ :
ย่านลิเภาสีน้ำตาล และหวาย ชิ้นส่วนประดับประกอบด้วย เงิน เพชร และงาช้าง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิค กรรมวิธีและขั้นตอนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
1. การเตรียมย่านลิเภา :  ย่านลิเภา เป็นพืชตระกูลเฟิร์นแบบเถาชนิดหนึ่งที่มีลำต้นขนาดเล็กใกล้เคียงกับก้านไม้ขีด เป็นเส้นยาวเติบโตคล้ายไม้เลื้อย มีใบหยักเรียวยาวคล้ายตีนจิ้งจก ส่วนที่นำมาจักสานเป็นบริเวณเปลือกหรือผิวนอก โดยย่านลิเภาสำหรับใช้ในงานจักสานนี้คือย่านลิเภาน้ำตาล มีลักษณะเส้นที่ยาว การเลือกเส้นย่านลิเภาให้มีความเหมาะสมสำหรับทำงานจักสานนั้นต้องมีความเหนียวและทน ด้านในควรมีสีน้ำตาลเข้ม ด้านนอกมีสีที่เขียวเข้ม ส่วนลิเภาอ่อนนั้นจะไม่นำมาใช้ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นน้อย เมื่อดึงเส้นลิเภาในขั้นตอนการถักหรือสานจะขาดและสีไม่สวย ทักษะเชิงช่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการทำผลิตภัณฑ์
ขั้นตอนการเตรียมเส้นย่านลิเภา

  1. การเตรียมย่านลิเภาโดยนำต้นย่านลิเภามาลิดใบออกจนหมด ตัดส่วนโคนและปลายให้เหลือความยาวประมาณ 1 เมตร ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
  2. การจักเปลือกหรือปอกเปลือก โดยนำย่านลิเภามาปอกเปลือกออกและนำมาผึ่งลมให้แห้ง ก่อนนำมาแบ่งด้วยวิธีการฉีกเป็นเส้นตามขนาดที่จะใช้งาน เมื่อฉีกเสร็จแล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม แล้วนำกลับขึ้นมาฉีกให้เป็นฝอยๆ
  3. การชักเลียด คือการเจาะรูปฝากระป๋องนม หรือสังกะสีชนิดหนาให้ได้ขนาดต่างๆ ตามต้องการประมาณ 5 รู ให้มีขนาดจากช่องใหญ่สุดไปยังช่องเล็กสุด แล้วนำย่านลิเภาที่เตรียมเส้นแล้วมารูดทีละช่องจากช่องขนาดใหญ่ไปยังช่องเล็กสุด จนได้ขนาดเส้นย่านลิเภาที่มีขนาดบางตามต้องการ  และมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น และมีผิวที่เรียบลื่นสวยงาม
    สำหรับย่านลิเภาที่ยังไม่ได้ใช้ให้เก็บใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นเอาไว้เพื่อกักเก็บความชื้น เมื่อนำออกมาใช้จะทำให้สานได้ง่ายกว่าเส้นลิเภาที่แห้งเมื่อผ่านขั้นตอนแรกจะถึงขั้นตอนการดัดโครง สำหรับขั้นตอนการขึ้นโครงผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภานี้ต้องเริ่มด้วยการสานส่วนฐานของผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรกด้วยวิธีการดัดให้เป็นรูปทรงที่ช่างต้องการ อาจเลือกรูปแบบการดัดหวายเป็นรูปทรงกลม รูปทรงรี รูปทรงเหลี่ยม เป็นต้น

2. ขั้นตอนการสานลาย :  เริ่มสานจากก้นของภาชนะหรือเครื่องใช้นั้น โดยใช้หวายขดขึ้นรูปในการขึ้นโครงเป็นวงกลมแบบก้นหอย ในการสานจะต้องใช้เบ้าเป็นเครื่องกำหนดรูปทรง เวียนขึ้นไปตามเบ้าที่ใช้เป็นแบบ ตัวเบ้านิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน มีรูปทรงแตกต่างกัน โดยใช้เบ้ารูปทรงนั้นมาเป็นแบบแล้วสานขึ้นรูปตามเบ้านั้นแล้วใช้เข็มเจาะนำแล้วสานต่อเส้นลิเภาทีละเส้นด้วยวิธีการถักเส้นลิเภาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากต้องอาศัยความละเอียดของช่างในการถัก

3. ขั้นตอนการเคลือบชักเงา : เมื่อสานย่านลิเภาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ได้ตามต้องการแล้ว จะต้องขัดผิวด้วยกระดาษทรายและเก็บหรือแต่งส่วนที่ไม่ค่อยเรียบร้อยออก แล้วใช้น้ำยาเคลือบผิวอย่างแล็กเกอร์ หรือน้ำมันชักเงาทาเพื่อเคลือบรักษาเนื้อผิวของผลิตภัณฑ์จักสานจากย่านลิเภาให้มีความคงทนเพิ่มความมันวาวดูโดดเด่น (สมัยโบราณนิยมทาด้วยน้ำมันยางใสป้องกันมอดและแมลงบางชนิดกัดกิน) ก่อนนำไปบุผ้า หรือประกอบเครื่องถมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ชิ้นงาน

4.ขั้นตอนการประดับตกแต่ง : โดยเมื่อผ่านขั้นตอนการเคลือบชักเงาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นขั้นตอนสุดท้ายด้วยการประดับตกแต่งด้วยการประดิษฐ์กรอบหรือขอบหุ้มด้วยถมเงิน และถมทองเพื่อให้ดูสวยงามและมีคุณค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระเป๋าถือของสุภาพสตรี นิยมนำถมทองมาหุ้มประดับเป็นหูหิ้ว ซึ่งนับเป็นพัฒนาการอีกระดับหนึ่งของขั้นประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา ทั้งนี้กระเป๋าย่านลิเภา 1 ใบ จะใช้เวลาในการทำประมาณ 15 – 20 วัน โดยประมาณ

ข้อมูลแหล่งที่มา