ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอพื้นบ้านที่มีการสืบทอดมานานกว่า 200 ปี มีแหล่งผลิตอยู่ที่หมู่บ้านนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ลักษณะของผ้าทอนาหมื่นศรีคือการทอมือด้วยเทคนิคเก็บตะกอ (การสร้างเส้นยืน) และสร้างลวดลายด้วยการทอยกเขาเพื่อเสริมเส้นพุ่งพิเศษ ซึ่งเป็นรูปแบบการทอเพื่อสร้างลวดลายบนผืนผ้าเช่นเดียวกับเทคนิค “การขิด” ในภาคอีสาน ซึ่งในภาคใต้จะเรียกผ้าที่มาการยกตะกอทั้งหมดว่า “ผ้ายก” จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ของบ้านนาหมื่นศรี ระบุว่าการทอผ้าของบ้านนาหมื่นศรีได้หายไปในห้วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเส้นด้ายขาดแคลน และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในราวปี พ.ศ. 2514 โดยเริ่มต้นจากกี่ทอผ้าพื้นเมืองเพียงหลังเดียว จากผู้เฒ่าผู้แก่ไม่อยากให้อัตลักษณ์ผ้าทอนาหมื่นศรีของดีของชาวจังหวัดตรังสูญหายไป ให้ผ้านาหมื่นศรียังคงอยู่คู่วิถีชีวิตและเป็นหนึ่งในงานเครื่องทอที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง
การรื้อฟื้นผ้าทอนาหมื่นศรีในปี 2514 ช่างทอผ้าบ้านนาหมื่นศรีได้รวมกลุ่มทอผ้าโดยใช้กี่กระตุกแทนกี่พื้นบ้าน ในสมัยแรกเริ่มผ้าทอนาหมื่นศรีจะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาทอเป็นผืนผ้า เช่น ฝ้าย ด้ายดิบ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้วัสดุที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด เช่น ด้าย ไหม ไหมเทียม ไนลอน เป็นต้น โดยลวดลายของผ้าทอนาหมื่นศรีส่วนหนึ่งรับแบบอย่างมาจากกลุ่มช่างทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผ้าทอบ้านนาหมื่นศรีในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับผ้าเกาะยอ
ลักษณะพิเศษของผ้าทอนาหมื่นศรีคือ โครงสร้างของผืนผ้าที่แตกต่างจากผ้าในท้องถิ่นอื่น คือ
- ริมตีน : คือส่วนริมนอกสุดของผืนผ้า ผู้ทอจะใช้ด้ายยืนสีขาวข้างละประมาณ 5 ช่องฟันฟืม หรือมากกว่านั้นตามจำนวนของฟันฟืม แต่ละช่องจะใช้ด้ายคู่ ตอนก่อเขาลายขัดแยกเส้นด้านบนล่างทีละ 2 เส้น ทำให้ริมตีนมีความหนาเป็นพิเศษกว่าบริเวณเนื้อผ้า โดยพื้นที่ส่วนริมตีนของผ้านาหมื่นสีแต่เดิมจะใช้เป็นสีขาวเสมอ
- แม่แคร่ : คือส่วนเนื้อผ้าที่ถัดจากส่วนริมตีนเข้ามา ผู้ทอจะใช้ด้ายยืนสีพื้นทำให้เนื้อผ้าเป็นสีพื้นสีเดียว ส่วนความกว้างนั้นแตกต่างกันไปตามผืนผ้า โดยต้องคำนวณจังหวะลายโดยหักเนื้อลายและลูกเกียบออกไปก่อน
- ลูกเกียบ : คือส่วนเนื้อผ้าที่มีลักษณะเป็นเส้นคู่ที่มีลายหรือพื้นอยู่ระหว่างกลาง คล้ายกับถูกคีบไว้ด้วยตะเกียบ มีทั้งแนวเส้นด้ายยืนและแนวเส้นด้ายพุ่ง ในแนวเส้นด้ายยืนคือส่วนที่ถัดจากแม่แคร่ ใช้ด้ายสีขาวสลับกับสีพื้นเป็น ชาว 4 พื้น 4 ขาว 4 ทอดแล้วจะเห็นเป็นเส้นขาวคู่ มีสีพื้นคั่นกลางขนานไปกับส่วนแม่แคร่ โดยส่วนที่เป็นแนวเส้นด้ายพุ่งมีลักษณะเป็นริ้วคาด 2 เส้น มีพื้นลายอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน บางผืนพบว่าใช้เส้นลูกเกียบเพียงเส้นเดียว