ผ้าทอนาหมื่นศรีลายลูกแก้ว

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าทอนาหมื่นศรีลายลูกแก้ว ตัวผ้ามีหนังลักษณะเป็นเชิงผ้าเป็นผ้านาหมื่นศรีกลุ่มผ้านุ่งใช้เป็นผ้าถุงหรือโสร่ง ใช้นุ่งแบบขมวดชายพกหรือนำไปตัดเย็บสำเร็จ โดยลายลูกแก้วถือเป็นลายพื้นฐานของผ้าทอทุกๆ แหล่ง แต่ละแหล่งจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป ลักษณะของลูกแก้วที่อยู่ในลายผ้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งผ้าลายลูกแก้วของนาหมื่นศรีทุกลายจะยกดอก 4 นัด (ตะกอ)  ส่วนหัวผ้าทอเป็นลายพื้นธรรมดา สีเหลือง สีทอง  ตัวผ้าทอเป็นลายลูกแก้ว สีดำ สีทอง ต่อด้วยลายสอง ประกบด้วยลูกเกียบ ทั้งด้านบนและด้านล่าง  ส่วนตีนผ้า ทอเป็นลายพื้นธรรมดา สลับเชิงผ้าลายลูกแก้วประกบด้วยลูกเกียบ  ทั้งด้านบนและด้านล่าง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ภาคใต้
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 102 ซ.ม. ยาว 184 ซ.ม.
วัสดุ :
ผ้าฝ้ายขัดมัน ด้าย เส้นใยสังเคราะห์
อายุ/ปีที่ผลิต :
2556
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ :  การนำลายผ้าโบราณมาดัดแปลงหรือประยุกต์จากการทอด้วยกี่โบราณ นำมาเก็บลายทอด้วยกี่กระตุก มีลวดลายสวยงามดั้งเดิมและทอได้รวดเร็วขึ้น

กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน  :
1. หันด้าย เส้นด้ายที่ใช้ในการทอผ้ามี 2 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ ด้ายยืนกับด้านพุ่ง ด้ายยืนคือส่วนที่เป็นโครงร่างของผืนผ้า ส่วนด้ายพุ่งเป็นเส้นด้ายที่ทอกลับไปมาเพื่อให้เกิดเป็นผืนผ้า ด้ายพุ่งจะแบ่งย่อยไปตามลักษณะผ้า ถ้าเป็นผ้าพื้นหรือผ้าตาใช้ด้ายพุ่งชนิดเดียวเรียกว่าด้ายตี ส่วนผ้ายกดอกจะต้องเพิ่มด้ายโส คือ ด้ายพุ่งสำหรับใช้สลับกับด้ายตี เพื่อทำให้เนื้อผ้าแน่นขึ้นและหนุนด้ายตีให้เห็นดอกเด่นชัด

2.ค้นหูก หรือการเดินดายเส้นยืน จะคำนวณตามความกว้างของฟันฟืม ความยาวของผ้าที่ต้องการ และเบอร์ของเส้นด้ายตามลักษณะของผ้าที่ต้องการ  ในการเดินด้ายให้ถือหลักว่าเดินตามลำดับ ริมตีน แม่แคร่ ลูกเกียบ แล้วจึงเดินส่วนที่ทอลาย เสร็จแล้ววนกลับมาที่ลูกเกียบ แม่แคร่ และริมตีนของอีกด้านหนึ่ง

3. สอดฟันฟืม โดยต้องใช้คนช่วย 2 คน เตรียมไม้เรียวใหญ่ ๆ ไว้ 1 อัน ไว้เป็นไม้รับด้ายและตะขอเบ็ด 1อัน นำด้ายในห่อเตรียมไว้มาวางหลังฟันฟืม ให้คนอยู่ด้านหน้าคนหนึ่ง ทำหน้าที่สอดตะขอเบ็ดผ่านช่อฟันฟืม อีกคนหนึ่งคอยจัดเส้นด้ายคล้องปลายเบ็ด เมื่อดึงหัวด้ายผ่านช่องฟันฟืมมาแล้วก็คล้องไว้กับเบ็ดก่อน ตรวจให้ทุกช่องฟันฟืมมีการสอดเส้นด้ายครบทุกช่องหรือสอดซ้ำไม่ได้ เพราะถ้าผิดพลาดแล้วจะทำให้ ผ้าเรียบไม่เสมอกัน

4. ม้วนด้ายหรือม้วนหูก ในพื้นที่ที่กว้างเพียงพอกับความยาวของเส้นด้าย โดยก่อนย้ายม้วนด้ายและฟันฟืมให้เตรียมไม้ไผ่ยาวไว้ เพื่อใช้เป็นหลักในการดึงเส้นด้ายให้ตึง โดยเอาปลายไม้สองข้างไปขัดกับเสาหลักและผูกไว้กับไม้รับด้วย ขั้นตอนนี้ต้องให้ฟันฟืมอยู่ในลักษณะตั้งขึ้น จัดปลายด้ายในไม้ลูกพันให้เรียงเป็นระเบียบ เอาไม้ลูกพันประกบในร่อง 2 ข้าง ของไม้ม้วนด้าย  ม้วนและปรับให้ตึงสม่ำเสมอกัน  เหลือเส้นด้ายไว้ประมาณ 1 ศอก  นำไปผูกเข้ากับกี่สั้นๆ เรียกว่าเข้ากี่   คือ เอาไม้พันหัวด้ายไปสอดในลูกตุ้มโยงไว้ ส่วนไม้รับด้ายนั้นไปวางไว้ในร่องสำหรับวางปั่นหรือไม้หน้าผ้า ยังไม่ถอดไปประกบกับปั่นจนกว่าจะทอผ้าได้ความยาวเพียงพอม้วนใส่ปั่นได้ 1 รอบ

5. ก่อเขาลายขัด  หรือเก็บตะกอลายขัด คือการร้อยเส้นด้ายเพื่อแยกเส้นด้ายให้ชุดบนกับชุดล่าง ซึ่งไขว้กันไว้ตั้งแต่เก็บเส้นด้ายในการเดินด้าย

6. เก็บลาย เรียกว่าคัดลาย ตามลักษณะลวดลายของผ้าที่ต้องการทอ โดยการคัดเส้นด้ายแยกขึ้นลงตามลักษณะของลาย โดยเส้นด้ายที่เก็บลายคือส่วนที่อยู่ถัดจากลูกเกียบเข้าไปเท่านั้น

7. ก่อเขายกดอก เมื่อเก็บลายครบทุกนัดแล้วจึงเริ่มก่อเขาหรือเก็บตะกอดอก ซึ่งเก็บจากส่วนที่ถัดเข้ามาจากลูกเกียบเท่านั้น โดยใช้เส้นด้ายเบอร์ 6 ผูกร้อยกลุ่มเส้นด้ายทีละชุดเฉพาะที่เป็นเส้นยกจนหมดทั้งนัด ใช้ปีกยิ่ว และผูกไว้กับไม้เรียวก่อเขาเช่นเดียวกับการก่อเขาลายขัด ทำเหมือนกันจนครบทุกนัด ลำดับการก่อเขาเรียงลำดับจากนัดที่ 1 ใกล้ตัว แล้วถัดไปตามลำดับ

8. การทอผ้า เริ่มจากการขึ้นชายผ้าด้วยการเว้นส่วนชายครุย ทอชายบัด ชายผ้าลูกเกียบแล้วจึงขึ้นลายที่กำหนดไว้ โดยลายยกดอกเกิดจากการใช้ด้ายพุ่ง 2 ชนิด คือ “ด้ายตี” เส้นด้ายที่ทำให้ดอกลายเป็นตัวนูนสูงกว่าสีพื้น ทอตามลายแต่ละนัด และ “ด้ายโส” ใช้ทอลายขัดสลับกับด้ายตีทุกครั้งเพื่อเป็นโครงร่างผืนผ้าและหนุนยกดอกให้นูนเด่น

ข้อมูลแหล่งที่มา