กำไลถมทองรูปตัว C

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

กำไลถมทองรูปตัว C ขึ้นรูปตัวเรือนเป็นตัว C ช่างกลางกำไลสลักลวดลายกนก ลงยาถม ขัด ทาทอง ส่วนปลายทั้ง 2 ข้างของกำไลสลักเป็นลายถักไม่ลงยา เพลาลายเพื่อความสวยงามและทำให้ชิ้นงานมีความร่วมสมัยตามความตั้งใจของนายวชิระ นกอักษร

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
กลุ่มวัฒนธรรม :
นครศรีธรรมราช
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 5.3 ซ.ม. ยาว 6.5 ซ.ม.
วัสดุ :
เงิน ทองคำ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : ขึ้นรูป สลักลาย ลงยาถม ทาทอง


**กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน :**

ขั้นตอนการทำยาถม : ยาถมจะมีส่วนประกอบของ ตะกั่ว ทองแดง เนื้อเงิน และกำมะถัน เป็นสูตรลับเฉพาะของช่างแต่ละสำนัก เคล็ดลับการทำยาถมที่สำคัญคือการหลอมส่วนประกอบทั้ง 4 ชนิดเข้าด้วยกันด้วยความร้อน 700 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลา 3-7 ชั่วโมง (แล้วแต่ปริมาณที่ทำน้ำยาถม) ในระหว่างการหลอมนั้นต้องค่อยๆ คนยาถมเข้าด้วยกัน และทยอยใส่กำมะถันทีละนิด สังเกตสีของยาถมให้มีสีดำเสมอกัน ความดำจะขึ้นอยู่กับปริมาณกำมะถันที่ใช้ ยาถมที่ดีจะมีสีเหมือนปีกแมลงทับ มีความดำเงาเลื่อมสีม่วง  จากนั้นปั้นเป็นก้อน ทิ้งให้เย็นเก็บไว้รอนำไปใช้

ขั้นตอนการออกแบบชิ้นงาน :
1. การออกแบบรูปทรงของชิ้นงานให้มีความร่วมสมัย  จากนั้นนำแบบไปทำพิมพ์ยางเพื่อหล่อขึ้นรูปชิ้นงาน
2. การออกแบบลวดลายชิ้นงาน แนวทางการทำงานของนายวชิระ นกอักษร คือการประยุกต์ลวดลายเดิมและการสร้างลวดลายขึ้นใหม่ โดยการพัฒนาจากลายไทยโบราณให้มีความร่วมสมัยเหมาะสมกับชิ้นงาน เช่นเป็นแหวนหรือกำไล เพื่อให้ได้สัดส่วน สมดุลสวยงาม  โดยใน 1 ลวดลาย นายวชิระจะทำไม่เกิน 10 ชิ้น (ต่างกันที่รูปแบบของทรงแหวน 2 รูปทรง) ลายที่ออกแบบทุกลายหลังจากใช้แล้วจะเก็บต้นแบบไว้เพื่อนำกลับมาพัฒนาใหม่ในอีก 4-5 ปี
3. สลักลายตามแบบที่วาดไว้ ด้วยสิ่ว ขนาดต่างๆ ที่พอเหมาะกับชิ้นงาน
4. แต่งผิวชิ้นงาน ทำความสะอาดผิว ก่อนนำไปลงยาถม หากทำความสะอาดไม่ดีจะทำให้มีฟองอากาศหรือที่เรียกว่า “ตามด” เมื่อนำไปลงยาถม
5. ลงยาถมด้วยการใช้ความร้อนเป่าละลายยาถมให้น้ำยาถมแล่นไปตามช่องลายที่ทำไว้ ต้องใช้ความระมัดระวังระหว่างลงยาถมให้น้ำยาถมแล่นเสมอกัน ไม่เป็นก้อนซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่างแต่ละคน
6. ขัดชิ้นงาน เมื่อยาถมเย็นลงแล้วนำมาขัดหยาบด้วยกระดาษทรายหยาบ จากนั้นขัดละเอียดด้วยกระดาษทรายที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้น แล้วจึงขัดเงาด้วยลูกผ้า (เครื่องขัด)
7.ทาทอง เช็ดชิ้นงานให้สะอาด ด้วยน้ำมะกรูด หรือมะนาว ทั้งนี้เพื่อเป็นการขจัดไขมัน และไฝฝ้าต่างๆ บนผิวเงินให้หมดไป เพราะถ้ามีไขมันเนื้อทองและปรอทจะจับผิวเงินไม่สะดวก แล้วใช้สำลีชุบทองเปียกที่เตรียมไว้ ถูทาวัตถุถมเงินนั้น เฉพาะที่ตรงเป็นเส้นเงิน แล้วนำวัตถุนั้น ไปตากแดด หรืออบความร้อนอ่อนๆ บนเตาผิง ทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง ปรอทซึ่งละลายปนกับเนื้อทองนั้น เมื่อถูกความร้อน ก็ระเหยกลายเป็นไอไปทีละน้อย แล้วก็จะเหลือแต่เนื้อทองจับติดแผ่นบนผิวเงินนั้นอย่างเดียว ทำอยู่เช่นนี้ประมาณ 3-4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายอบให้ได้ความร้อนสูงกว่าเดิม จนรูปพรรณถมนั้นร้อนจัด (ระวังอย่าให้ร้อนจนเนื้อถมละลาย) เมื่อปรอทระเหยออกหมด เหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นกับเนื้อเงิน ก็เป็นอันเสร็จ
8. การเพลาลาย นำชิ้นงานไปเพลาลายเพื่อให้ลวดลายที่ออกแบบไว้มีความเงางามขึ้นรูป ด้วยการใช้สิ่วขนาดเล็กและคม มีขนาดตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร จนถึง 6 มิลลิเมตร

ข้อมูลแหล่งที่มา