แหวนถมเงินลายใบเทศประดับหัวนะโม ตัวแหวนสลักลายใบเทศ ลงยาถมเงิน หัวแหวนฝังเม็ดนะโม (ปี 2526) ด้านหลังเม็ดนะโมมีตัวอุนาโลมกำกับ ซึ่ง “หัวนะโม” เป็นเครื่องรางของขลังที่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช รู้จักกันดี และมีความเป็นมาที่ยาวนานนับกว่า 700 ปีมาแล้ว โดยเล่ากันว่า ในราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 หัวนะโมคือเม็ดโลหะที่เป็นเบี้ยใช้แทนเงินตราไว้แลกเปลี่ยนสินค้าในอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) ที่เรียกว่าหัวนะโมเนื่องจากมีลักษณะเป็นเม็ดกลม มีอักษรปัลลวะ หรืออักษรอินเดียโบราณจารึกไว้ ต่อมาเมื่อเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในอาณาจักร พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) ได้ทรงทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมขึ้นด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์ โดยอัญเชิญเทพเจ้าทั้งสามคือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม เป็นอักขระแทนองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์ แล้วเอาไปหว่านไว้รอบๆ เมืองและในสถาน ที่เกิดโรคระบาด ปรากฏว่าโรคห่าได้หายไปจากอาณาจักรนครศรีธรรมราชจนสิ้น
เทคนิคที่ใช้ : ขึ้นรูป สลักลาย ถมเงิน
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน :
ขั้นตอนการทำยาถม : ยาถมจะมีส่วนประกอบของ ตะกั่ว ทองแดง เนื้อเงิน และกำมะถัน เป็นสูตรลับเฉพาะของช่างแต่ละสำนัก เคล็ดลับการทำยาถมที่สำคัญคือการหลอมส่วนประกอบทั้ง 4 ชนิดเข้าด้วยกันด้วยความร้อน 700 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลา 3-7 ชั่วโมง (แล้วแต่ปริมาณที่ทำน้ำยาถม) ในระหว่างการหลอมนั้นต้องค่อยๆ คนยาถมเข้าด้วยกัน และทยอยใส่กำมะถันทีละนิด สังเกตสีของยาถมให้มีสีดำเสมอกัน ความดำจะขึ้นอยู่กับปริมาณกำมะถันที่ใช้ ยาถมที่ดีจะมีสีเหมือนปีกแมลงทับ มีความดำเงาเลื่อมสีม่วง จากนั้นปั้นเป็นก้อน ทิ้งให้เย็นเก็บไว้รอนำไปใช้