“ไม้เทพทาโร” หรือไม้จวงหอมของภาคใต้ มีชื่อที่ชาวไทยมุสลิมรู้จักว่า “แตยอ” หรือในท้องถิ่นเรียกว่า “ตะไคร้ต้น” ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แดนใต้ของไทย ในอดีตไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่มากตามป่าดงดิบ ต่อมาภายหลังเมื่อความเจริญรุดเข้ามา ต้นเทพธาโรถูกโค่นทิ้งจำนวนมาก เพื่อใช้พื้นที่ปลูกยางพาราและสร้างบ้านเรือนทดแทน ทำให้เหลือเพียงตอและรากฝังอยู่ใต้ดิน
จุดเด่นของไม้เทพธาโร คือ เป็นไม้มงคล ชาวใต้เชื่อว่า หากมีไว้ประจำบ้านจะช่วยให้ร่มเย็น เนื้อไม้สวยงาม เรียบเนียนเหมาะกับการนำมาแกะสลัก
รากไม้เทพทาโรมีคุณสมบัติแตกต่างจากรากไม้ทั่วไปคือ รากไม้เทพทาโรจะมีกลิ่นหอมมากขึ้นก็ต่อเมื่อฝังอยู่ในดินนานเป็นเวลา 15 ปีขึ้นไป ยิ่งรากไม้ฝังอยู่ในดินนานจะยิ่งมีกลิ่นหอมและมีความทนทานมากยิ่งขึ้น ไม้เทพทาโรที่นำมาแกะสลักจึงเป็นส่วนของรากและตอไม้เท่านั้น ซึ่งกลิ่นหอมของรากไม้เทพทาโรนี้สามารถป้องกันมอด มด ปลวก และแมลงได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านที่ทราบถึงคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำรากไม้มาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ยังเป็นการใช้ภายในพื้นที่เท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายในลักษณะสินค้าเชิงพาณิชย์ จนกระทั่ง นายเชือบ ชุมดี ชาวบ้าน ต.เขาไพร อ.รัษฎา จ.ตรัง ได้นำรากไม้เทพทาโรมาแกะสลักเป็นของใช้ ของที่ระลึกประดับตกแต่งบ้าน และของที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและพิธีกรรมออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก และต่อมาได้นำผลิตภัณฑ์ไม้เทพทาโรเข้าประกวดในงานวัฒนธรรมไทยของอำเภอรัษฎา และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้เทพทาโรเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในจังหวัดตรัง และในปี พ.ศ. 2539 ไม้เทพทาโรมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้นจากการนำไปแกะสลักเป็นรูปพะยูน ของที่ระลึกประจำจังหวัดตรังในการแข่งขันกีฬาพะยูนเกมส์