เทคนิคที่ใช้ : กลึงไม้ขึ้นรูป สลักลาย ถมเงิน
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน :
ขั้นตอนการทำตัวแหวน : นำไม้พะยูงที่คัดสรรเฉพาะส่วนเนื้อไม้ที่สวยงามและเหมาะกับการทำแหวนมากลึงและขึ้นรูปจนได้รูปทรงที่ต้องการ
ขั้นตอนการทำยาถม : ยาถมจะมีส่วนประกอบของ ตะกั่ว ทองแดง เนื้อเงิน และกำมะถัน เป็นสูตรลับเฉพาะของช่างแต่ละสำนัก เคล็ดลับการทำยาถมที่สำคัญคือการหลอมส่วนประกอบทั้ง 4 ชนิดเข้าด้วยกันด้วยความร้อน 700 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลา 3-7 ชั่วโมง (แล้วแต่ปริมาณที่ทำน้ำยาถม) ในระหว่างการหลอมนั้นต้องค่อยๆ คนยาถมเข้าด้วยกัน และทยอยใส่กำมะถันทีละนิด สังเกตสีของยาถมให้มีสีดำเสมอกัน ความดำจะขึ้นอยู่กับปริมาณกำมะถันที่ใช้ ยาถมที่ดีจะมีสีเหมือนปีกแมลงทับ มีความดำเงาเลื่อมสีม่วง จากนั้นปั้นเป็นก้อน ทิ้งให้เย็นเก็บไว้รอนำไปใช้
ขั้นตอนการออกแบบชิ้นงาน :
1. การออกแบบรูปทรงของชิ้นงานให้มีความร่วมสมัย โดยพิจารณาทรงแหวนกับงานถมนครที่จะนำมาประดับให้สอดรับกัน
2. การออกแบบลวดลายชิ้นงาน แนวทางการทำงานของนายวชิระ นกอักษร คือการประยุกต์ลวดลายเดิมและการสร้างลวดลายขึ้นใหม่ โดยการพัฒนาจากลายไทยโบราณให้มีความร่วมสมัยเหมาะสมกับชิ้นงาน เช่นเป็นแหวนหรือกำไล เพื่อให้ได้สัดส่วน สมดุลสวยงาม โดยใน 1 ลวดลาย นายวชิระจะทำไม่เกิน 10 ชิ้น (ต่างกันที่รูปแบบของทรงแหวน 2 รูปทรง) ลายที่ออกแบบทุกลายหลังจากใช้แล้วจะเก็บต้นแบบไว้เพื่อนำกลับมาพัฒนาใหม่ในอีก 4-5 ปี
3. สลักลายตามแบบที่วาดไว้ ด้วยสิ่ว ขนาดต่างๆ ที่พอเหมาะกับชิ้นงาน
4. แต่งผิวชิ้นงาน ทำความสะอาดผิว ก่อนนำไปลงยาถม หากทำความสะอาดไม่ดีจะทำให้มีฟองอากาศหรือที่เรียกว่า “ตามด” เมื่อนำไปลงยาถม
5. ลงยาถมด้วยการใช้ความร้อนเป่าละลายยาถมให้น้ำยาถมแล่นไปตามช่องลายที่ทำไว้ ต้องใช้ความระมัดระวังระหว่างลงยาถมให้น้ำยาถมแล่นเสมอกัน ไม่เป็นก้อนซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่างแต่ละคน
6. ขัดชิ้นงาน เมื่อยาถมเย็นลงแล้วนำมาขัดหยาบด้วยกระดาษทรายหยาบ จากนั้นขัดละเอียดด้วยกระดาษทรายที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้น แล้วจึงขัดเงาด้วยลูกผ้า (เครื่องขัด)
7. การเพลาลาย นำชิ้นงานไปเพลาลายเพื่อให้ลวดลายที่ออกแบบไว้มีความเงางามขึ้นรูป ด้วยการใช้สิ่วขนาดเล็กและคม มีขนาดตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร จนถึง 6 มิลลิเมตร
8. ประกอบชิ้นงานส่วนที่เป็นไม้พะยูงและแผ่นถมเงินเข้าด้วยกัน