กระเชอเตยปาหนัน

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

กระเชอเป็นภาชนะสานชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกระบุง ก้นสอบ ปากผาย มีขนาดเล็ก  ปากกว้างสำหรับใส่ของ สมัยก่อนของโบราณทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่ใช้สำหรับเอาไว้ใส่ข้าวเปลือก เพื่อใช้ในการชั่ง ตวง วัด กระเชอเตยปาหนันสานด้วยเตยปาหนันสีธรรมชาติ  ตรงปากกระเชอ   และขอบด้านในเป็นหวาย  เพื่อความคงทนแข็งแรงในการใช้งาน

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องจักสาน
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 ซ.ม. สูง 26 ซ.ม.
วัสดุ :
เตยปาหนัน หวาย
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เตยปาหนันมีคุณสมบัติและลักษณะเด่นกว่าเตยชนิดอื่นๆคือ มีความเหนียวทนทานไม่ขึ้นรา ทำให้สามารถมีอายุการใช้งานได้นานอย่างน้อยถึง 10 ปี เส้นเตยมีความมันวาวเส้นใยมีความนิ่มกว่าเตยชนิดอื่นๆ โดยก่อนการจักสานเตยปาหนันต้องมีขั้นตอนการเตรียมเส้นเตยปาหนันดังนี้

การคัดเลือกเตยปาหนัน :  เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นเตยปาหนันที่มีลักษณะใบบางและยาว ใบเตยปาหนันที่นำมาใช้ในการจักสานต้องเป็นใบที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป โดยเลือกตัดใบเตยปาหนันตั้งแต่ประมาณชั้นใบที่ 4 นับจากโคนต้นขึ้นไป และไม่เอาใบยอดที่ยังอ่อนๆ 2 – 3 ชั้นใบนับจากยอด แต่ละใบยาวประมาณ 120 – 150 เซนติเมตร  การตัดให้ฟันมีดพร้าลงไปเฉียงๆ ให้ติดหัวอ่อน ไม่ตัดที่โคนต้นเพื่อให้หัวอ่อนแตกหน่อได้ในภายหลัง

การเตรียมใบเตยปาหนันให้เป็นเส้นตอก :

  1. นำใบเตยปาหนันที่ตัดแล้วมามัดกับเชือกเถาให้เป็นกำ จากนั้นตัดโคนใบและตัดปลายใบเพื่อให้ได้ใบเตยปาหนันที่มีความยาวเสมอกัน เพื่อความสะดวกในการเตรียมเส้นตอก
  2. เหลาหนามเตยที่ขอบและด้านหลังใบออกให้หมด โดยริดจากโคนใบไปหาปลายใบ แล้วนำไปผึ่งแดงประมาณ 5 – 10 นาที เพื่อให้ใบเริ่มเหี่ยว หรือนำเอาไปอังไฟให้ใบเตยปาหนันอ่อนตัว เพื่อไม่ให้ใบฉีกขาดหรือหักได้ง่าย ทั้งนี้ไฟที่เหมาะสมสำหรับการใช้อังหรือย่างใบเตยปาหนันต้องเป็นถ่านที่ไม่มีควัน เพื่อป้องกันไม่ให้ใบเตยปาหนันเป็นสีขาวขุ่น โดยการย่างใบเตยปาหนันจะย่างจนสุกคือ ใบเตยจะเริ่มมีสีเขียวเข้มขึ้นและเป็นเงาจากน้ำมันในใบเตยปาหนันที่ระเหยออกมาเคลือบใบภายนอก วิธีการนี้ทำให้ใบเตยปาหนันสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่มีเชื้อรา
  3. กรีดใบเตยปาหนันเป็นต้นตอกด้วยอุปกรณ์กรีดที่เรียกว่า ยังหงาด หรือ ย่าหงาด ตามขนาดที่ต้องการแล้วแยกหนามข้างใบ และเส้นตอกเตยออกจากกัน จากนั้นใช้ไม้ไผ่ขูดให้นิ่ม หรือนำไปรีดด้วยเครื่องรีดเส้น แล้วรวบเป็นกำมัดด้วยเชือกให้เป็นก้อนขนาดพอประมาณ
  4. นำเส้นตอกเตยที่มัดเป็นกำหรือก้อนแล้วไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 3 – 5 นาที แล้วนำไปแช่น้ำผสมน้ำส้มสายชู (สัดส่วนน้ำส้มสายชู 1 ขวด ต่อน้ำ 1 โอ่ง) เป็นเวลา 2 – 3 คืน เพื่อให้สีเขียวของเตยปาหนันละลายปนอยู่กับน้ำ  จะได้เส้นตอกเตยสีขาวอมเหลือง แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งแดดไว้ 1 – 2 วัน จะได้เส้นตอกเตยสีขาวนวล รวบมัดไว้เป็นกำให้มีขนาดและความยาวเท่าๆ กัน เก็บไว้ที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อเตรียมเป็นเส้นตอกเตยปาหนันที่ใช้จักสานได้

ขั้นตอนการจักสาน :

  1. เตรียมพื้นที่สานโดยพื้นต้องมีความเรียบ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ชื้นหรือแฉะ
  2. นำเส้นตอกเตยปาหนันมารีดด้วยเครื่องรีดให้เรียบและนิ่ม ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
  3. รวบเส้นตอกเตยปาหนันให้เป็นกำ และจัดให้ความยาวของหัวท้ายเท่ากันแล้วพักกึ่งกลาง
  4. การสานเริ่มจากกึ่งกลางของเส้นตอกที่พับไว้แล้ว โดยนำเส้นตอก 2 เส้น มาสานเป็นลายขัดตามรูปแบบหรือลวดลายที่กำหนดโดยการสานเริ่มจากก้นให้ได้ขนาด หลังจากนั้นสานพับมุม 4 มุม แล้วพับขึ้นสานต่อไปจนได้ขนาด ตรงปากขอบด้านในใช้เป็นหวายเพื่อความคงทนแข็งแรง
ข้อมูลแหล่งที่มา