หมวกเตยปาหนันปีกกว้าง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หมวกเตยปาหนันปีกกว้าง สานด้วยลายขัดธรรมดา ใช้สำหรับสวมหัวขนาดประมาณ 18 ซ.ม.ลักษณะปีกจะกว้างประมาณ 7 นิ้วโดยรอบ

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องจักสาน
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
เส้นผ่านศูนย์กลาง 45 ซ.ม.(รวมปีก) ช่องสวมหัว เส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ซ.ม.
วัสดุ :
เตยปาหนัน สีเคมี
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เตยปาหนันมีคุณสมบัติและลักษณะเด่นกว่าเตยชนิดอื่นๆคือ มีความเหนียวทนทานไม่ขึ้นรา ทำให้สามารถมีอายุการใช้งานได้นานอย่างน้อยถึง 10 ปี เส้นเตยมีความมันวาวเส้นใยมีความนิ่มกว่าเตยชนิดอื่นๆ โดยก่อนการจักสานเตยปาหนันต้องมีขั้นตอนการเตรียมเส้นเตยปาหนันดังนี้

การคัดเลือกเตยปาหนัน :  เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นเตยปาหนันที่มีลักษณะใบบางและยาว ใบเตยปาหนันที่นำมาใช้ในการจักสานต้องเป็นใบที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป โดยเลือกตัดใบเตยปาหนันตั้งแต่ประมาณชั้นใบที่ 4 นับจากโคนต้นขึ้นไป และไม่เอาใบยอดที่ยังอ่อนๆ 2 – 3 ชั้นใบนับจากยอด แต่ละใบยาวประมาณ 120 – 150 เซนติเมตร  การตัดให้ฟันมีดพร้าลงไปเฉียงๆ ให้ติดหัวอ่อน ไม่ตัดที่โคนต้นเพื่อให้หัวอ่อนแตกหน่อได้ในภายหลัง

การเตรียมใบเตยปาหนันให้เป็นเส้นตอก :

  1. นำใบเตยปาหนันที่ตัดแล้วมามัดกับเชือกเถาให้เป็นกำ จากนั้นตัดโคนใบและตัดปลายใบเพื่อให้ได้ใบเตยปาหนันที่มีความยาวเสมอกัน เพื่อความสะดวกในการเตรียมเส้นตอก
  2. เหลาหนามเตยที่ขอบและด้านหลังใบออกให้หมด โดยริดจากโคนใบไปหาปลายใบ แล้วนำไปผึ่งแดงประมาณ 5 – 10 นาที เพื่อให้ใบเริ่มเหี่ยว หรือนำเอาไปอังไฟให้ใบเตยปาหนันอ่อนตัว เพื่อไม่ให้ใบฉีกขาดหรือหักได้ง่าย ทั้งนี้ไฟที่เหมาะสมสำหรับการใช้อังหรือย่างใบเตยปาหนันต้องเป็นถ่านที่ไม่มีควัน เพื่อป้องกันไม่ให้ใบเตยปาหนันเป็นสีขาวขุ่น โดยการย่างใบเตยปาหนันจะย่างจนสุกคือ ใบเตยจะเริ่มมีสีเขียวเข้มขึ้นและเป็นเงาจากน้ำมันในใบเตยปาหนันที่ระเหยออกมาเคลือบใบภายนอก วิธีการนี้ทำให้ใบเตยปาหนันสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่มีเชื้อรา
  3. กรีดใบเตยปาหนันเป็นต้นตอกด้วยอุปกรณ์กรีดที่เรียกว่า ยังหงาด หรือ ย่าหงาด ตามขนาดที่ต้องการแล้วแยกหนามข้างใบ และเส้นตอกเตยออกจากกัน จากนั้นใช้ไม้ไผ่ขูดให้นิ่ม หรือนำไปรีดด้วยเครื่องรีดเส้น แล้วรวบเป็นกำมัดด้วยเชือกให้เป็นก้อนขนาดพอประมาณ
  4. นำเส้นตอกเตยที่มัดเป็นกำหรือก้อนแล้วไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 3 – 5 นาที แล้วนำไปแช่น้ำผสมน้ำส้มสายชู (สัดส่วนน้ำส้มสายชู 1 ขวด ต่อน้ำ 1 โอ่ง) เป็นเวลา 2 – 3 คืน เพื่อให้สีเขียวของเตยปาหนันละลายปนอยู่กับน้ำ  จะได้เส้นตอกเตยสีขาวอมเหลือง แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งแดดไว้ 1 – 2 วัน จะได้เส้นตอกเตยสีขาวนวล รวบมัดไว้เป็นกำให้มีขนาดและความยาวเท่าๆ กัน เก็บไว้ที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อเตรียมเป็นเส้นตอกเตยปาหนันที่ใช้จักสานได้

การย้อมสีเส้นตอก : สีที่นำมาย้อมเส้นตอกเตยปาหนันคือสีเคมี โดยสีที่ย้อมส่วนใหญ่คือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง และสีส้ม มีขั้นตอนดังนี้

  1. ต้มน้ำประมาณครึ่งกะละมังให้เดือด ใส่เกลือแกงลงไปประมาณ 1 กำมือ เพื่อช่วยให้สีย้อมติดคงทน และใส่หัวน้ำส้มสายชูหรือหัวน้ำส้มฆ่ายางประมาณ 3 หยด เพื่อช่วยให้เส้นตอกลื่นยิ่งขึ้น ใส่สีที่ต้องการย้อมประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ และใช้ไม้พายคนให้เข้ากัน
  2. นำเส้นตอกเตยปาหนันแห้งมัดเป็นกำไปแช่น้ำให้เปียกทั่วทุกเส้น เพื่อล้างฝุ่นหรือคราบสกปรกอันจะเป็นอุปสรรคต่อการย้อมสีออก จากนั้นนำไปผึ่งให้น้ำสะเด็ดแห้งพอหมาด
  3. นำตอกเตยปาหนันที่สะเด็ดน้ำแล้วใส่ลงไปในกระทะย้อมสี คนให้เส้นตอกเตยปาหนันติดสีทุกเส้นประมาณ 3 – 5 นาที
  4. นำเส้นตอกเตยไปแช่ด้วยน้ำเย็น ล้างน้ำเปล่าประมาณ 2 – 3 ครั้ง ให้น้ำสีออกหมดจนเป็นน้ำใสสะอาด แล้วจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 1 วัน จะได้เส้นตอกเตยปาหนันสีสันต่างๆ พร้อมใช้งาน

ขั้นตอนการจักสาน :

  1. เตรียมพื้นที่สานโดยพื้นต้องมีความเรียบ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ชื้นหรือแฉะ
  2. นำเส้นตอกเตยปาหนันมารีดด้วยเครื่องรีดให้เรียบและนิ่ม ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
  3. รวบเส้นตอกเตยปาหนันให้เป็นกำ และจัดให้ความยาวของหัวท้ายเท่ากันแล้วพักกึ่งกลาง
  4. การสานเริ่มจากกึ่งกลางของเส้นตอกที่พับไว้แล้ว โดยนำเส้นตอก 2 เส้น มาสานเป็นลายขัดตามรูปแบบหรือลวดลายที่กำหนด โดยการสานเริ่มจากตรงกลางให้เป็น 4 มุม ให้ได้รูปทรงกลมรัศมี 18 ซ.ม. หลังจากนั้นสานหักต่อลงมา 7 นิ้ว ต่อด้วยปีก 7 นิ้วด้านข้าง เก็บขอบพับสานเข้ากับตัวหมวก โดยไม่มีการเย็บขอบข้าง
ข้อมูลแหล่งที่มา