ตลับรูปควาย

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

สลักดุนลายบนแผ่นโลหะทองแดง เป็นรูปทรงสัตว์ประเภทควายรูปแบบต่าง ๆ  ใช้สำหรับใส่ยาเส้น หรือใส่หมากที่เจียนแล้ว หรือใช้ใส่ของกระจุกกระจิก

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ช่างสลักดุน สกุลช่างเมืองพนมเปญ
วัสดุ :
โลหะทองแดง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2530
องค์ความรู้ :
รายละเอียดชิ้นงาน

ช่างสลักดุนชาวกัมพูชานั้น จะมีทักษะและนิยมสลักดุนโลหะ ให้เป็นรูปทรงรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น ควาย นก ไก่ เต่า หอย เป็นต้น รวมทั้งความนิยมรูปทรงสัตว์ ตามจินตนาการ สัตว์ในวรรณคดีหรือสัตว์หิมพานต์ หรือสัตว์ตามความเชื่อ เป็นต้น งานสลักดุนรูปสัตว์ต่าง ๆ ฝีมือช่างสลักดุนโลหะ เมืองพนมเปญ จึงถือเป็นเครื่องแสดงถึงทักษะ และเอกลักษณ์ของช่างสลักดุนชาวกัมพูชาที่สามารถสร้างงานสลักดุนที่มีรูปลักษณะใกล้เคียงรูปลักษณ์ธรรมชาติได้มากที่สุด รูปสัตว์บางชนิด เช่น ควาย แสดงให้เห็นถึงความผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันในชนบท ซึ่งชาวกัมพูชาให้ความสำคัญกับควายในฐานะที่เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณที่ช่วยในการทำไร่ไถนา หรือรูปสัตว์ตามความเชื่อ เช่น นกคุ้ม หรือนกคุ่ม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่าง ๆ ให้แก่ผู้ครอบครองได้ หรือรูปสัตว์อย่างเต่า ก็เป็นอีกรูปทรงหนึ่ง ที่ช่างสลักดุนชาวกัมพูชานิยมทำ ทั้งนี้สืบเนื่องจากอิทธิพลคตินิยมของศาสนาฮินดูในอดีตที่เชื่อว่า พระวิษณุ หรือพระนาราย อวตารเป็นเต่าลงไปรองรับเขามัณฑระที่ก้นเกษียรสมุทรในการกวนน้ำอมฤต และแม้ว่าในปัจจุบันประเทศกัมพูชาจะนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นหลักแล้วก็ตาม แต่คตินิยมดั้งเดิมก็ยังคงแฝงอยู่ในจิตนาการของช่างสลักดุนเสมอ นอกจากนั้นยังอาจแสดงอิทธิพลของคติความเชื่อจากจีนและเวียดนามอีกด้วยที่เชื่อกันว่า เต่า เป็น สัญลักษณ์ของความมีอายุยืนยาว งานสลักดุนโลหะเงินรูปสัตว์ต่าง ๆ ของกัมพูชาในปัจจุบันจึงเป็นที่นิยมมาก ในอดีดตลับรูปสัตว์นิยมใช้สอยสำหรับใช้ใส่ยาเส้น หรือหมากที่เจียนแล้ว หรือสีผึ้งทาปาก แต่ปัจจุบันอาจใช้เป็นของที่ระลึก หรือประดับเพื่อความสวยงาม หรือใส่ของกระจุกกระจิก และเป็นที่นิยมของต่างชาติที่มาเยือนประเทศกัมพูชาที่นิยมซื้อหาติดมือกลับมาอีกด้วย

ข้อมูลแหล่งที่มา