หัวและตัวซิ่นเป็นผ้าลายเกาะล้วง เอกลักษณ์ของลายผ้าไทยลื้อ ส่วนตีนซิ่นเป็นตีนจก
ชาวน้ำปาด มีเชื้อสายลาวล้านช้าง อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง สมัยกรุงธนบุรี มีการปลูกฝ้ายและเลี้ยงไหม อีกทั้งยังรับเอาวัฒนธรรมของชาวไทยวนและชาวไทลื้อที่อยู่ใกล้เคียงมาผสมผสานกับรูปแบบของชาวลาวดั้งเดิมของตนสร้างผลงานการทอขึ้นมา จึงทำให้ผ้าซิ่นน้ำปาดมีความงดงามเป็นพิเศษ ลักษณะของผ้าซิ่นน้ำปาดมีทั้งแบบที่ทอด้วยไหมยาวตลอดผืน หรือแบบที่ทอตัวแล้วมาต่อด้วยตีนจกอีกที ซึ่งตัวซิ่นนี้ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคมัดหมี่แบบลาว มีการผสมเทคนิคเกาะล้วงแบบไทลื้อบ้าง บางครั้งมีการนำเอาผ้าจากต่างประเทศ อาทิ ผ้าแพรจีน ผ้าพิมพ์แท่นไม้ หรือผ้ามัดย้อมจากอินเดียมาใช้ ทำให้ดูสวยงามแปลกตา ส่วนตีนจกมีสีสันสดใส ค่อนข้างแคบและไม่มีหางสะเปา แต่จะมีเล็บเป็นเส้นแถบสีเล็ก ๆ ที่ปลาย คล้ายซิ่นเชียงแสน
เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการจก
การจก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มได้พุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า โดยใช้ขนเม่น ไม้ หรือนิ้วมือยกหรือจกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น และสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปตามลวดลายและสีสันที่ผู้ทอสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งนี้คำว่า “จก” นั้นภาษาไทยท้องถิ่นหมายถึง การควัก ล้วง ขุด คุ้ย ซึ่งลักษณะของกระบวนการทอผ้าจก คือ จะต้องใช้การควัก ล้วง ดึง เส้นด้ายพุ่งพิเศษขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลาย จึงสามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าจกได้ซับซ้อน และเพิ่มสีสันในลวดลายได้หลากหลาย ผู้ทอผ้าจกในประเทศไทย นิยมทอสำหรับส่วนหรือองค์ประกอบที่เป็นส่วนสำคัญอย่างตีนซิ่น เพื่อนำมาประกอบตัวซิ่น จึงมีการเรียกผ้าซิ่นที่ทอด้วยเทคนิคจกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” หรือ “ผ้าตีนจก”