ผ้าซิ่นตีนจกลับแล ผืนที่1

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

  • หัวซิ่นมีสองชั้นตามลักษณะผ้าซิ่นโบราณ ตัวซิ่นเป็นซิ่นต๋าปั่นไก (หรือซิ่นต๋าหางกระรอก) ลายทางยาวตามเอกลักษณ์ไทยวน ส่วนตีนซิ่นเป็นซิ่นจก
  • ผ้าซิ่นตีนจกของชาวไทยวนเมืองลับแลยุคเก่าดั้งเดิม อายุ 150 ปีขึ้นไป จะมีรูปแบบมาตรฐานของซิ่นเชียงแสน โดยตัวซิ่นจะจกลวดลายดอกไม้สีเหลืองเป็นริ้วขวางลำตัว หรือที่เรียกว่า “ลายดอกเคี้ยะ” ส่วนตีนจกยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ด้วยการจกไหมหลากสีลงบนพื้นแดงซึ่งเป็นลวดลายที่สืบทอดกันมา แต่ตัวเล็บซิ่นหรือพื้นเรียบด้านล่างของจกนั้นจะแคบกว่าซิ่นเชียงแสนในแหล่งอื่น ๆ
  • ผ้าซิ่นลับแลในยุคหลัง (อายุต่ำกว่า 100 ปีลงมาถึง 60 ปีนั้น ลักษณะของผ้าซิ่นจะแตกต่างไปจากยุคก่อน คือตัวซิ่นมีความเรียบง่ายขึ้น แบ่งเป็นตัวซิ่นสิ้ว ตัวซิ่นไก และตัวซิ่นมุก ส่วนตีนจำนั้นโทนสีจะนิยมเป็นสีโทนเขียวและเหลืองเป็นส่วนใหญ่ จกลงบนพื้นสีแดงเข้ม โดยตัวจกจะกว้างและลวดลายจะแน่นเต็มพื้นที่จนไม่เหลือพื้นที่เรียบด้านล่าง แต่จะมีเล็บสีเหลืองที่ส่วนปลายอันเป็นเอกลักษณ์ของซิ่นเชียงแสน


ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ไทยวน
ขนาด :
กว้าง 25 นิ้ว ยาว 35 นิ้ว
วัสดุ :
ผ้าซิ่นตีนจกทอจากฝ้าย
อายุ/ปีที่ผลิต :
2462
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการจก
การจก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มได้พุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า โดยใช้ขนเม่น ไม้ หรือนิ้วมือยกหรือจกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น และสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปตามลวดลายและสีสันที่ผู้ทอสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งนี้คำว่า “จก”  นั้นภาษาไทยท้องถิ่นหมายถึง การควัก ล้วง ขุด คุ้ย ซึ่งลักษณะของกระบวนการทอผ้าจก คือ จะต้องใช้การควัก ล้วง ดึง เส้นด้ายพุ่งพิเศษขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลาย จึงสามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าจกได้ซับซ้อน และเพิ่มสีสันในลวดลายได้หลากหลาย  ผู้ทอผ้าจกในประเทศไทย นิยมทอสำหรับส่วนหรือองค์ประกอบที่เป็นส่วนสำคัญอย่างตีนซิ่น เพื่อนำมาประกอบตัวซิ่น จึงมีการเรียกผ้าซิ่นที่ทอด้วยเทคนิคจกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” หรือ “ผ้าตีนจก”

ข้อมูลแหล่งที่มา