- ผ้าแพรวา คือ ผ้าเบี่ยงไหมของชาวผู้ไทหรือชาวภูไท ที่ใช้พาดเบี่ยงคล้ายสไบ มีความกว้างประมาณ 1 ศอก ยาว 1 วา จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผ้าแพรวา”
- ผ้าแพรวามีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างสรรค์โดยกรรมวิธีการจกแบบดั้งเดิมโดยใช้นิ้วก้อย “จก” สอดเส้นไหมเส้นพุ่งสีสันต่าง ๆ สอดแทรกเป็นเส้นพุ่งพิเศษตามจังหวะลวดลาย โดยผ้าแพรวาหนึ่งผืนประกอบด้วยลวดลายหลายสิบลายไม่ซ้ำกัน แต่ละลายมีความหมายเกี่ยวข้องกับความเชื่อและขนบประเพณีของชุมชน
- ผ้าแพรวา มีเสน่ห์แตกต่างจากผ้าชนิดอื่นด้วยลวดลายที่ทอจะปรากฏอยู่ด้านล่างของกี่ โดยมีไม้คันผัง ช่วยยึดผ้าที่ทอแล้วไว้ให้ตึงตลอดเวลา ทำให้ลวดลายบนผ้าสวยงาม ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสีสันของผ้าที่เป็นสีโทนแดง และใช้เส้นไหมสีเขียว เหลือง ขาว หรือน้ำเงิน ในการขิดลาย ทำให้เกิดสีสันที่สวยงามลงตัวกับผืนผ้า ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าแพรวาประกอบด้วยลายทั้งหมด 3 ส่วนดังนี้
1. ลายหลัก คือ ลายขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยลายเล็ก ๆ หลาย ๆ ลายมาประกอบเข้าด้วยกันตามจินตนาการของผู้ทอ ลายเล็ก ๆ ที่สามารถนำมาประกอบเป็นรายหลักได้ เช่น ลายนาคสี่แขน ลายพันธุ์มหา ลายดอกส้าน ฯลฯ
2. ลายคั่น คือ ลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ทำหน้าที่ เป็นตัวแบ่งรายใหญ่ออกเป็นช่วงสลับกันไป เช่นลายขาเข ลายงูลอย ลายดอกส้มป่อย ฯลฯ
3. ลายเชิง คือ ลายที่ปรากฏอยู่ตรงช่วงปลายของผ้าทั้งสองข้างทำหน้าที่เป็นตัวริเริ่มและจบของลายผ้า เช่น ลายหางปลาวา ลายดอกผักแว่น ลายงูลอย ฯลฯ