หัวโขนพระพิฆเนศวร สีแดง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“หัวโขนพระพิฆเณศวร สีแดง” หัวโขนและวิธีการทำหัวโขนเป็นทั้งศิลปะ และภูมิปัญญา จัดเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการสร้างสรรค์และสั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย โดยมิได้ขาดตอน หัวโขนแม้จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เป็นอุปกรณ์สำหรับการเล่นมหรสพอย่างหนึ่ง แต่หัวโขนเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมด้วยศิลปะลักษณะ และรูปลักษณะที่ไม่มีงานศิลปะประเภทเดียวกันนี้ในที่อื่นใดจะทัดเทียม หรือเสมอเหมือนได้

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องกระดาษ
วัสดุ :
กระดาษ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน
  • พระพิฆเนศวร หรือพระคเณศ ถือเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะและสรรพศาสตร์ทั้งปวง  พระพิฆเนศวรเป็นพระโอรสของพระอิศวรกับพระอุมา มีรูปลักษณ์เป็นมนุษย์ที่มีเศียรเป็นช้าง มี 4 กร ทรงบ่วงและขอช้าง หากเป็นภาพจิตรกรรมมักถือวัชระ จักร สังข์ คทา ดอกบัว มีหนูเป็นพาหนะ โดยเรื่องราวในรามเกียรติ์กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระอิศวรทำสงครามรบกับตรีบูรัมนั้น พระคเณศทรงเป็นนายกองปีกซ้ายคุมกองทัพช่วยพระอิศวรรบจนได้รับชัยชนะ ต่อมาเมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม พระคเณศได้แบ่งภาคลงมาเป็นเสนาวานรที่มีชื่อว่า “นิลเอก” หนึ่งในเสนาวานรสิบแปดมงกุฏ
  • หัวโขนพระพิฆเนศวร มักใช้ในพิธีครอบครูของศิลปินแขนงต่าง ๆ  โดยหัวโขนบรมครูที่ใช้ในพิธีครอบครูทั้ง 9 หัว ได้แก่ 1.พระอิศวร  2.พระนารายณ์  3. พระพรหม 4. พระปัญจสีขร  5.พระปรคนธรรพ  6.พระวิสสุกรรม  7.พระพิราพ 8. พระพิฆเนศวร  9.พ่อแก่ (พระฤาษี)
ข้อมูลแหล่งที่มา