ผ้าทอลาวครั่ง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“ผ้าทอลาวครั่ง” ของครูจำปี คงความเป็นลายโบราณ และลายที่คิดประยุกต์สร้างขึ้นใหม่ โดยนำลายเก่ามาปรับใช้เป็นการผูกลายใหม่ ทำให้เกิดลวดลายที่แปลกออกไปจากเดิม

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
ผู้สร้างสรรค์ :
วัสดุ :
ฝ้าย
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน
  • ชนชาวลาวครั่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ อพยพเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งซ้ายของลุ่มแม่น้ำโขง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดสุพรรณบุรี
  • กลุ่มชนชาวลาวครั่ง มีความสามารถในการทอผ้าโดยเฉพาะการทอผ้าจก เมื่อมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานก็นำเอาประเพณีวัฒนธรรมสิ่งของเครื่องใช้ติดมาด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านการทอผ้า และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ผ้าทอจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวลาวครั่ง
  • ผ้าทอลาวครั่ง เกิดจากฝีมือของช่างทอชาวลาวครั่งซึ่งส่วนใหญ่ทอกันอยู่ในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดชัยนาท ถือเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาวลาวครั่งมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ในอดีตนั้นชาวลาวครั่งจะทอผ้ากันทุกครัวเรือนเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มของทุกคนในครอบครัว และใช้ในพิธีกรรมตามคติความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อดวงวิญญาณ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด การตาย และประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ผ้าทอลาวครั่งจึงมีความสำคัญ ผูกพันกลมกลีนต่อวิถีชีวิตชาวลาวครั่งมาตั้งแต่อดีต และยังถ่ายทอดให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน
  • ผ้าทอลาวครั่ง มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวลาวครั่งในแถบจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดชัยนาท คือ “ผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อตีนจก” ซึ่งถือว่าเป็นผ้าที่แสดงถึงฝีมือชั้นเลิศของช่างทอลาวครั่ง ด้วยมีเทคนิคการทอทั้งการจกและมัดหมี่โดยใช้ทั้งฝ้าย และไหมเป็นองค์ประกอบ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าทอลาวครั่งคือความงดงามของตัวซิ่นที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบ และสีสันบนผ้าซิ่น โดยชาวลาวครั่งจะเรียกผ้าซิ่นต่อตีนจกเหล่านั้นตามลักษณะโครงสร้างของตัวซิ่นเป็นหลัก เช่น ซิ่นหมี่โลด ซิ่นหมี่ตา ซิ่นหมี่น้อย เป็นต้น
  • ผ้าทอลาวครั่ง เมื่อนำมาทำเป็นผ้าซิ่นลาวครั่ง ความสำคัญจะอยู่ที่ “ตีนซิ่น” ซึ่งในอดีต ตีนซิ่นต้องเป็นสีแดงเท่านั้น โดยคนโบราณจะใช้สีเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ถึงที่มาของบรรพบุรุษ ซึ่งสีแดง สื่อความหมายแทน “ดวงอาทิตย์” สืบเนื่องจากบรรพบุรุษของชาวลาวครั่งอพยพโยกย้ายมาจากทิศตะวันออก และสีแดงจะถูกนำมาใช้เฉพาะส่วนตีนซิ่นเท่านั้น โดยผ้าซิ่นลาวครั่ง มีการใช้สีหลักๆ อยู่ 5 สี ได้แก่
    -  สีแดง  สื่อความหมายถึงการอพยพมาจากดินแดนทางทิศตะวันออก
    -  สีดำ  สื่อความหมายถึง “เมือง” ที่มีลักษณะอุดมสมบูรณ์ มี “ดินดำชุ่มน้ำ”
    -  สีขาว สื่อความหมายถึง “เชื้อชาติ” บอกถึงชาติพันธุ์หรือชนเผ่าของบรรพบุรุษคือ “ลาวพุทธ”
    -  สีเหลือง สื่อความหมายถึง “ดอกจำปา” เอกลักษณ์ของชุมชนหรือความเป็นลาว นั่นเอง
    -  สีเขียว สื่อความหมายถึง “การดำรงชีวิต” ที่ผูกพันกับธรรมชาติ
ข้อมูลแหล่งที่มา