ผ้าปาเต๊ะลายว่าวควาย

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าปาเต๊ะพิมพ์ล็อกไม้ลายว่าวควาย เป็นการนำลายของการละเล่นที่นิยมเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้มาแกะเป็นบล็อคไม้และสร้างสรรค์เป็นลวดลายพิมพ์ต่อเนื่องกันทั้งผืนผ้า และสีย้อมจากธรรมชาติจากพืชพรรณที่พบได้ในพื้นถิ่น เพื่อแสดงอัตลักษณ์และความงดงามของแดนใต้ผ่านการสร้างสรรค์ลวดลายที่แสดงความร่วมสมัย

Types :
เครื่องทอ
Culture :
มลายู
Dimension :
กว้าง 118 เซนติเมตร ยาว 192 เซนติเมตร
Medium :
เส้นยืนฝ้าย เส้นพุ่งไหม ย้อมสีธรรมชาติจากแก่นจำปาดะ ใบมังคุด น้ำเทียนบริสุทธิ์ (ขี้ผึ้ง 100% ผสมกับเทียนแผ่น)
Date :
2024
Information

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการทอยกดอกแบบเหยียบตะกอ และการสร้างมิติสีสันบนผืนผ้าด้วยการพิมพ์บล็อกไม้
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
1. การคัดเลือกผ้า : ผ้าที่ใช้สำหรับทำผ้าปะลางิงมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการในการสร้างลวดลายและเนื้อสัมผัสบนผืนผ้า ซึ่งโดยทั่วไปมี 4 รูปแบบคือ

  1. ผ้าไหม : คือการใช้ไหมน้อย 100% มาทอเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิงที่ทำจำลองตามแบบผ้าโบราณ
  2. ผ้าฝ้าย : คือการใช้ผ้าฝ้าย 100% มาทอเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิง โดยผ้าในส่วนนี้ครูปิยะได้ทำโครงการพัฒนากระบวนการทอผ้าร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา จ.ยะลา
  3. ผ้าฝ้ายแกมไหม : คือการใช้ผ้าฝ้ายเป็นเส้นยืน และผ้าไหมเป็นเส้นพุ่ง สำหรับการทอผ้าพื้นแบบผ้ายกดอก (แบบเหยียบตะกอ)
  4. ผ้าซาติน : คือการนำผ้าซาตินสำเร็จที่มีคุณสมบัติเรียบ ลื่น เป็นเงาสวย มาตัดตามขนาดที่ต้องการเพื่อทำเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิง
    ซึ่งผ้าปะลางิงลายว่าวควายผืนนี้มีความพิเศษตรงที่มีการใช้ผ้าพื้นที่ทอแบบยกดอก 4 ตะกอ ด้วยฝ้ายแกมไหม ทำให้ผ้ามีน้ำหนัก เงางาม และทิ้งตัวเวลาสวมใส่

2. การเตรียมผ้า : นำผ้าที่เตรียมไว้มาแช่น้ำรองย้อม (น้ำรองย้อมคือ การใช้คุณสมบัติตามธรรมชาติของพืชที่พบในท้องถิ่นเช่น เปลือกกล้วยหิน ใบหูกวาง ใบฝรั่ง มาทำเป็นน้ำรองย้อมที่ช่วยให้สีติดดียิ่งขึ้น) โดยนำผ้าที่แช่ไว้มาบีบ นวด ให้น้ำซึมเข้าไปในเส้นใยของผืนผ้า แช่ไว้ประมาณ 30 นาที แล้วนำไปตากให้หมาด

3. การลงสีครั้งที่ 1 : นำผ้ามาขึงบนแท่นเฟรมที่เตรียมไว้ และนำสีธรรมชาติสีเหลืองที่ได้จากแก่นจำปาดะมาทาจนทั่วผืนผ้าประมาณ 2 ครั้ง จากนั้นผึ่งผ้าไว้ให้แห้ง

4. การสร้างลายบนผื้นผ้า : กำหนดช่องลาย โทนสีและรูปแบบลวดลายและโครงสร้างผ้าตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งผ้าปาเต๊ะลายว่าวควายมีการสร้างลาย 2 เทคนิคด้วยกันคือ

  1. การสร้างลายบนพื้นผิวผ้า : คือการสร้างลายด้วยการใช้เทคนิคการทอยกแบบ 4 ตะกอสร้างลวดลายบนผืนผ้าเป็นลายกระเบื้องโมเสกโบราณ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการสร้างมิติของผิวสัมผัสบนพื้นผ้าก่อนนำไปเพิ่มมิติด้านสีสันในขั้นตอนต่อไป
  2. การสร้างลายด้วยพิมพ์บล็อกไม้ : คือการนำบล็อกไม้ที่ออกแบบลวดลายเป็นลายว่าวควายผ่านนำอัตลักษณ์ของแดนใต้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ มาทำเป็นบล็อกไม้สำหรับการพิมพ์ลาย
    โดยครูปิยะจะออกแบบลวดลายบนกระดาษ เพื่อพิจารณาการต่อลายที่สมบูรณ์ก่อนนำไปแกะสลักลงบนไม้ที่มีความทนทานต่อความร้อน แข็งแรง ไม่ผุพังง่าย เช่น ไม้ขนุน ไม้มะม่วงป่า เป็นต้น ส่วนของแป้นไม้นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง และส่วนของด้ามจับนิยมทำจากไม้สัก เนื่องจากเป็นไม้ที่มีน้ำหนักช่วยเพิ่มน้ำหนักมือเมื่อนำไปกดสร้างลายลงบนผืนผ้า ซึ่งลักษณะบล็อกไม้ที่ออกแบบโดยครูปิยะมีลักษณะพิเศษคือ มีความเล็ก ละเอียด ไร้รอยต่อ ทำให้ในการพิมพ์ลายจึงได้เส้นที่คมชัดแม้ขนาดลายจะเล็กเพียงใดก็ตาม และยังสามารถนำมาประกอบและสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยการใช้ขี้ผึ้ง 100% ผสมกับเทียนแผ่นด้วยการต้มจนร้อนและมีความเหลวได้ที่สำหรับการพิมพ์ล็อกไม้

5. การลงสีครั้งที่ 2 :  นำใบมังคุดมาเตรียมเป็นสีย้อมธรรมชาติจนได้สีเทาเฉดที่ต้องการคือสีโทนส้ม - น้ำตาล และใช้สารส้มเป็นสารช่วยติดสี มาทาลงบนผืนผ้าด้วยแปรงทาสี ประมาณ 2 – 3 รอบ จนได้ความชัดหรือความเข้มของสีตามต้องการและรอให้แห้ง จากนั้นนำผ้าไปผ่านน้ำหรือซักด้วยน้ำเปล่าประมาณ 2 – 3 น้ำ เพื่อสังเกตการดูดซึมสีของผืนผ้า

6. การต้มละลายน้ำเทียน : หลังจากได้สีตามต้องการแล้ว ก่อนนำไปต้มน้ำเทียนให้นำผ้าไปล้างหรือผ่านน้ำสะอาดประมาณ 1 – 2 น้ำ เพื่อสังเกตการซึมของสีในเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำไปต้มในน้ำร้อนที่ผสมด้วยผงซักฟอกเล็กน้อย (เพื่อทำความสะอาดและช่วยฟิกซ์สีไม่ให้สีตก) ซึ่งเทียนจะค่อยๆ ละลายออกจากเนื้อผ้า โดยขี้ผึ้งที่ได้จากการต้มลอกออกจากผืนผ้าเมื่อทิ้งไว้ให้เย็นจนกลายเป็นแผ่นขี้ผึ้ง สามารถนำมาใช้ในการทำน้ำเทียนสำหรับการพิมพ์บล็อกไม้และการเขียนเทียนในครั้งต่อๆ ไป หลังจากนั้นจึงนำผ้าไปแช่และล้างในน้ำเย็น ก่อนนำไปผึ่งให้แห้งและรีดให้เรียบเพื่อพร้อมต่อการใช้งาน

References