เอางานศิลป์ใช้ดึงคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกัน สร้างอาชีพให้พวกเขา ลูกหลานจะได้ไม่ไปไหน
จุดเริ่มต้นในเส้นทางสายช่างทอของครูนวลศรีมาจากคุณแม่ ซึ่งท่านได้ไปร่ำเรียนเทคนิคการถักนิตติ้งมาจากหมอสอนศาสนา (missionary) ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ สมัยนั้น ครูนวลศรีเล่าว่า คุณแม่ของครูต้องเสียค่าเรียนกว่า 200 บาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก พอเห็นคุณแม่ถักทอ ครูนวลศรีก็เลยเริ่มสนใจในศาสตร์ด้านนี้ โดยเริ่มต้นจากการที่คุณแม่ของครูนวลศรีสอนถักผ้าพันคอ ยุคนั้น การถักนิตติ้งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะประเทศไทยเรายังไม่มี เป็นเทคนิคการถักทอของชาวต่างชาติ
ครูนวลศรีเริ่มเรียนรู้ทักษะการถักนิตติ้งจากคุณแม่ตั้งแต่จำความได้ เวลาที่เห็นคุณแม่ถักครูนวลศรีในวัยเด็กก็จะมานั่งข้างๆ คุณแม่และลองฝึกไปพร้อมๆ กันจนกระทั่งเป็นทักษะติตตัวพอถักนิตติ้งเป็นจนคล่อง ครูนวลศรีก็ไปเรียนเทคนิคการถักโครเชต์ต่อ จนในที่สุดก็ยึดอาชีพช่างทำเครื่องทอมาจนถึงทุกวันนี้
จากเส้นไหมพรมทั่วไปสู่การถักเส้นใยกัญชง เริ่มต้นจากจากสมัยที่ครูนวลศรีขายผ้าฝ้ายอยู่ที่ถนนคนเดินในตัวเมือง แล้วเห็นว่าตลาดต่างชาติสนใจใยกัญชงและเริ่มมีความนิยมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครเริ่มทำงานถักเส้นใยกัญชงมาก่อน ครูนวลศรีจึงใช้ความรู้เดิมที่มีในเรื่องการถักโครเชต์ และนิตติ้ง มาสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากใยกัญชง และรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อทำงานหัตถกรรมจากใยกัญชงในปี 2544 เพื่อเป็นอาชีพเสริมในช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 คน