เพชร วิริยะ

ครูศิลป์ของแผ่นดิน

ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในความเป็นสล่า เมื่อได้ทำงานที่เรารัก เราชอบก็จะทำให้ดีที่สุด

ครูเพชร  วิริยะ หรือที่รู้จักกันในแผ่นดินศิลป์ล้านนาว่า “สล่าเพชร” พื้นเพเป็นคนบ้านบวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนโตของ หนานสิงห์  วิริยะ และ นางบัวจิน  วิริยะ มีน้องชาย 3 คน น้องสาว 1 คน ในชุมชนบ้านบวกค้าง เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง ที่มักถูกเรียกว่า “ชาวยอง” ตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปลงเมืองล้านนา ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ตามนโยบายที่พระเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่กวาดต้อนเข้ามาเพื่อให้ชาวเมืองยองเหล่านี้ ตั้งบ้านเรือนในพื้นที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองหลังการปกครองของพม่าในล้านนาสิ้นสุดลง

ครูเพชรจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบวกค้าง และต้องออกมาช่วยครอบครัวทำไร่ ทำนา เช่นเดียวกับเด็กในชนบททั่วไป ได้คลุกคลีกกับงานของหนานสิงห์ บิดา ที่เป็นช่างไม้ รับงานสร้างบ้านตามแบบสล่าของล้านนา   ทำให้เขาคุ้นเคยกับเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับงานไม้มาโดยตลอด รวมถึงงานจักสานเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน ที่เขาเองลงมือช่วยพ่อทำยางว่างแล้วนำไปเร่ขายในพื้นที่จังหวัดลำปาง เชียงราย แม้ในระหว่างทำงานช่วยเหลือครอบครัว ครูเพชรเองก็เรียน กศน. หรือการศึกษาตามอัธยาศัยควบคู่ไปด้วย  ซึ่งถือเป็นระบบการศึกษาที่เอื้อให้เด็กไทยในยุคนั้นได้มีโอกาสใช้เวลาที่เหลือจากการเรียนช่วยครอบครัวทำงานเพื่อยังชีพได้ในคราวเดียวกัน จนเขาสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3

ทว่าสิ่งหนึ่งในการเรียนที่มักดึงความสนใจจากเขาเสมอ คือวิชาศิลปะ และมักทำคะแนนได้สูงเสมอเมื่อมีการลงมือสร้างสรรค์ หรือสอบวัดผล  ครูเพชรมักลืมเวลาทุกคราวเมื่อเฝ้ามองดูศิลปินตวัดปลายดินสอเขียนภาพเสมือนลงบนกระดาษ เงินรายได้ที่เก็บออกมาจากการทำงาน จึงมักหมดไปกับการซื้อหนังสือศิลปะทุกคราวที่มีโอกาสเข้าไปในเมือง  และเริ่มต้นวาดรูปเหมือนออกขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นความสุขเล็กของเขาที่ได้ทำงานที่ตนรัก

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นกับเขา เมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีหลักสูตรสอนวิชาชีพแกะสลักไม้ ระยะสั้น 3 เดือนฟรี  มาเปิดสอนที่วัดบวกค้าง รับสมัครเด็กหนุ่มรุ่นกระทงในหมู่บ้านมาฝึกวิชาชีพ ในรุ่นนั้นมีนักเรียนลงเรียนราว 60 คน โดยผู้สอนคือ ครูคำอ้าย  เดชดวงตา สล่ามากฝีมือเป็นที่ยอมรับในงานแกะสลักขณะนั้น ด้วยความหนักหน่วงของการเรียนงานแกะสลักไม้ขั้นพื้นฐาน ทำให้คนเรียนเหลือรอดจนสำเร็จการอบรมระยะสั้นงานแกะสลักไม้เบื้องต้นเหลือเพียง 10 คนเท่านั้น ด้วยเป็นงานที่ต้องใช้ความเพียร อุตสาหะ  อาศัยความชำนาญผ่านการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก  มีทั้งคนที่เรียนอย่างเข้าใจและไม่เข้าใจ ว่ากว่าจะได้ชิ้นงานศิลปะสักชิ้น จนสามารถขายชิ้นงานได้ต้องใช้เวลา ทำให้นักเรียนหลายคนถอดใจเพราะรายจ่ายที่มีไม่สามารถรอเวลาได้นานขนาดนั้น

ฝีมือและชั้นเชิงช่างของครูเพชร เข้าตาครูคำอ้าย ประกอบกับความสนุกในการเรียน เป็นใบเบิกทางให้ครูเพชรตัดสินใจติดตามครูคำอ้าย เพื่อไปเรียนรู้ฝึกฝนงานแกะสลักงานไม้เพิ่มชั่วโมงบิน ที่ครูคำอ้ายต้องไปเปิดสอน ตามโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่บ้านแม่นะ อ.เชียงดาวอีก 3 เดือน ซึ่งมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันร่วมเดินทางไปอีก 5 ชีวิต พร้อมเงินขวัญถุงจากทางบ้านติดตัวมา 300 บาท ในระหว่างนี้เองที่ผลงานแกะสลักช้างไม้ของครูเพชร เริ่มจะขายได้พอเจือจุนทำเป็นอาชีพพร้อมๆกับการฝึกฝนความชำนาญ หลังจบหลักสูตรที่แม่นะครูเพชรยังติดสอยห้อยตามไปทำงานแกะสลักไม้ที่ บ้านข่อย อ.งาว จ.ลำปาง บ้านครูคำอ้าย ถึงเกือบ 4 ปี เรียกได้ว่าครูเพชรเสมือนศิษย์ก้นกุฎิของสล่าคำอ้าย นักแกะสลักไม้ชั้นครูในยุคนั้น

เมื่อเรียนรู้งานแกะสลักไม้จนเรียกได้ว่าครบตำราสำนักครูคำอ้าย ครูเพชรเริ่มอยากได้งานแกะสลักไม้ที่มีความหลากหลายของชิ้นงานมากขึ้น ประกอบกับอยากกลับไปภูมิลำเนา เพราะมั่นใจว่าฝีไม้ลายมือในฐานะสล่าแกะสลักไม้น่าจะพอตัวจนเลี้ยงชีพได้  เขากลับบ้านเกิดมาทำงานแกะสลักไม้ที่บ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ ที่ได้รวบรวมสล่างานศิลปะพื้นบ้านมากมายหลายสาขาเพราะความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มีต่องานศิลปะพื้นบ้านล้านนา  ที่นี่เขาได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านศิลปะกับสล่าด้านต่างๆ ได้พัฒนาฝีมืองานแกะสลักไม้ตามความต้องการของลูกค้า มีผู้อุปถัมภ์งานศิลปะแขนงนี้มากขึ้น

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเปิดมุมมองต่องานแกะสลักช้างต่างไปอีกขั้น เมื่อได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนกับ อาจารย์นิธิ  สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย)และศาสตราจารย์กิตติคุณอรุณ  ชัยเสรี ว่างานแกะสลักช้างไม้นั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเดิม พร้อมกับทิ้งหนังสือเกี่ยวกับอากัปกิริยาของช้างไว้ให้เล่มหนึ่ง หลังจากได้พินิจพิจารณาแล้วครูเพชรเริ่มลงลึกถึงการถอดอิริยาบถของช้าง  ให้เหมือนมีชีวิตมากที่สุดผ่านงานแกะสลัก เขาเดินทางไปงานช้างที่จังหวัดสุรินทร์ทุกปี เพื่อไปสังเกตเรียนรู้อากัปกิริยา การหมอบ การเดิน การชูงวง ของช้างพ่อ แม่ลูก การแสดงความรู้สึกระหว่างกัน และความรู้สึกที่ช้างจะแสดงออกต่อควาญ

ในห้วงของการเรียนรู้เปิดมุมมองต่องานศิลปะแขนงนี้นั้น ความมั่นคงในอาชีพช่างแกะสลักไม้ของครูเพชรมั่นคงขึ้นโดยลำดับ จากฝีมือของชิ้นงานที่ได้ถ่ายทอดที่มีระดับความยากซับซ้อนและแตกต่างจากงานแกะสลักทั่วไปที่มี ครูเพชรได้รวบรวมช่างแกะสลักฝีมือดีรักงานศิลปะหลายในถิ่นล้านนาจัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี 2528 ที่มีทั้งสล่างานแกะสลักไม้  กลุ่มมิตรสหายที่เคยร่วมเรียนด้วยกัน และทายาทช่างแกะสลักรุ่นถัดมาอย่างน้องชายและน้องสาวของตนเกิดเป็นกลุ่มงานแกะสลักไม้ขึ้น และในปี 2531  นายประยูร จรรยาวงษ์ คอลัมนิสต์ชื่อดังได้ตั้งชื่อกลุ่มให้ว่า “บ้านจ๊างนัก” หมายถึงบ้านที่มีช้างเยอะแยะมากมาย จนได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนักในปัจจุบัน

อาจพูดได้ว่างานแกะสลักช้างไม้ของครูเพชร ถือเป็นงานแกะสลักที่ดูมีชีวิตชีวากว่างานแกะสลักไม้จากแหล่งอื่น เมื่อมองเข้าไปที่แววตาของช้าง ราวกับว่าช้างนั้นสื่อความรู้สึกผ่านดวงตาได้ ผ่านรอยสิ่ว ลึกตื้นแตกต่างกันเป็นรอยหยักรอยนูน เสมือนม่านตาของช้างจริง ด้วยสัดส่วนสมจริงตามหลักของการวัดสเกล หรือแม้แต่สัมผัสของเส้นขนช้างที่เมื่อยกมือขึ้นลูบจะสัมผัสได้ถึงความสากเสมือนผิวช้างจริง นี่จึงเป็นเหตุผลให้งานแกะสลักช้างไม้ของครูเพชรเป็นที่ยอมรับในความสวยงามมีชีวิตชีวา จนได้นำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการสำคัญๆ หลายต่อหลายครั้งทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงงานหล่อโลหะที่ในระยะหลังครูเพชรได้เรียนรู้เพิ่มเติมเป็นศิษย์งานหล่อโลหะรุ่นสุดท้ายของอาจารย์สันต์  สารากรบริรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2547 ซึ่งถือเป็นศิษย์สายตรงของศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี  กระทั่งเมื่อมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ครูเพชรได้รับมอบหมายให้หล่อประติมากรรมช้างสำริด วงเวียนช้างในงานพืชสวนโลก ที่ถือเป็นอีกหนึ่งอนุสรณ์ศิลปะสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเลิศในการถ่ายทอดลักษณะประติมากรรมในงานโลหะสำริด ที่คงพูดได้ไม่ผิดว่าครูเพชรเป็นผู้มีความเป็นเลิศในการคืนชีวิตให้กับช้างเสมือนจริงผ่านงานศิลปะนั่นเอง

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2564
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องไม้
สถานะ :
มีชีวิต