อยากทำงานเครื่องรัก เพื่อการอนุรักษ์ส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้งานศิลปะที่มีคุณค่า
ครูมานพ วงศ์น้อย เป็นชาวบ้านหนองป่าครั่งเกิดในครอบครัวกสิกรรม จากพี่น้อง 6 คน เขาเป็นบุตรคนที่ 4 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดหนองป่าครั่ง และสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนวัดกู่คำ รุ่นสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับของยุคนั้น ในด้านการเรียนดูเหมือนว่าจะไม่ได้สร้างความหนักใจให้เขานัก เพราะผลการเรียนของเขาจะเป็นตัวเลขบอกจำนวนนักเรียนในห้องเสมอ ทว่าวิชาที่เขาทำได้ดีที่สุด มีความสุขเสมอคืองานศิลปะ ที่เขาตั้งตารอทุกคราวว่าชั่วโมงนี้จะได้สร้างสรรค์ชิ้นงานอะไร
ผลการเรียนนี้เองที่ทำให้ทางบ้านตัดสินใจให้เขาจบการศึกษาภาคบังคับ มาช่วยแบ่งเบางานทำไร่ไถนาเฉกเดียวกับคนในพื้นที่ แต่ยังส่งเสริมให้เข้ารับการอบรมวิชาชีพทำเครื่องรัก หลักสูตรระยะสั้น 3 เดือน ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยครูทองคำ แสงวงศ์ และเซนเซเครื่องรักชาวญี่ปุ่น ที่ได้สอนเทคนิคการทำเครื่องรักแบบญี่ปุ่นด้วยการใช้เทคนิคการประดับเปลือกไข่และรักสี ที่นับว่าได้เข้ามาเปิดโลกเครื่องรัก งานเครื่องเขินแบบใหม่ให้กับเด็กชายวัย14 ปีอย่างเขา ดูแปลกตาไปกว่างานเครื่องเขินพื้นเมืองล้านนาเดิมที่ได้คลุกคลีมา หลังอบรมเสร็จสิ้นครูมานพเริ่มต้นเส้นทางศิลปินเครื่องรัก ด้วยการรับจ้างทารักรายวันให้กับร้านค้าของฝากย่านวัดศรีสุพรรณ ในเมืองเชียงใหม่แหล่งผลิตงานหัตถกรรมเครื่องเงิน และเครื่องรักขึ้นชื่อถิ่นล้านนา
ความสนุกในการเรียนรู้กับเทคนิคศิลปะที่แปลกใหม่สำหรับเขา ทำให้ครูมานพตัดสินใจเพิ่มชั่วโมงบินด้านงานศิลปะฝังประดับมุกและการทำตะลุ่มประดับมุก(ภาชนะใส่ของใช้แทนถาดหรือพาน) เข้าทำงานที่ร้านขายของที่ระลึกประดับมุกสำหรับนักท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ 2 ปี จากนั้นกลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่ พร้อมทักษะช่างที่เชี่ยวชาญขึ้นในร้านทำเครื่องเงิน แผนกงานหัตถกรรมพื้นเมืองที่สร้างสรรค์งานศิลปะประดับมุกสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยทักษะเชิงช่างที่สะสมขึ้นนี้เองทำให้ครูมานพได้เป็นสล่างานช่างที่ต้องดูแลคนงานประจำโรงงานผลิตเครื่องรักที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ อย่างร้านไทยช็อป ร้านนภาเครื่องเขิน และร้านลายทอง งานเครื่องรักประดับมุก มีทีมงานที่ต้องดูแลถึง 20 คนเพื่อผลิตชิ้นงานศิลปะให้ทันกับความต้องการของนักท่องเที่ยว
ตลอดระยะเวลา 10 ปีกับประสบการณ์ในงานหัตถศิลป์พื้นเมือง ทำให้ชื่อเสียงฝีไม้ลายมือ และทักษะเชิงช่างในการออกแบบเครื่องรักเครื่องเขินประดับมุกเริ่มเป็นที่ยอมรับว่า ชิ้นงานที่ผ่านมือเขาล้วนมีความปราณีต จนพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อลูกค้าชาวเบลเยี่ยม มร.เบอร์นาร์ด ที่ได้ยื่นแจกันใบหนึ่งพร้อมต้องการให้ทำชิ้นงานแบบเครื่องรักญี่ปุ่นให้เขา พร้อมย้ำว่าอยากได้ชิ้นงานจำลองแบบต้นฉบับของญี่ปุ่น วันรับงานกลับมร.เบอร์นาร์ดถูกใจกับผลงานของเขามากและกลับมาหาเขาพร้อมมอบภาพโครงร่างสร้อยคอ 3 ชิ้น เป็นงานเครื่องประดับชนิดหนึ่งให้เขา ที่มีเทคนิคการทำเบื้องต้นคล้ายกับงานเครื่องรักที่เขาทำอยู่ และถามว่าสามารถชิ้นงานจำลองนี้ขึ้นได้ไหม
เขาขอเวลามร.เบอร์นาร์ด 3 เดือนเพื่อศึกษาเทคนิควิธีการทำเครื่องรักในรูปแบบโมเดิร์นนี้ จากหนังสืองานศิลปินเครื่องรักชาวฝรั่งเศส ที่มร.เบอร์นาร์ดนำมาศึกษาร่วมกัน ด้วยตัวช่วยสำคัญคือมร.เบอร์นาร์ด ที่ตัดสินใจมาเรียนภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารเมื่อถอดความได้จากหนังสืองานศิลปะเครื่องรักที่เขานำมา เพื่อให้ได้เทคนิควิธีการและชิ้นงานได้ตรงตามความต้องการยิ่งขึ้น ผลปรากฏว่า ไม่ใช่เพียงแค่ 3 เดือน หลังเห็นผลงานที่สวยงามวิจิตรยิ่งกว่าชิ้นงานจริงที่ มร.เบอร์นาร์ดเคยเห็นจากต้นฉบับ ทำให้ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่มร.เบอร์นาร์ด ใช้ชีวิตไป-มา ระหว่างเมืองไทยและเบลเยี่ยม เขาเป็นผู้ส่งออกผลงานต่อเนื่องของครูมานพไปยังยุโรปคนแรก โดยชิ้นงานที่ส่งออก มีทั้งเครื่องประดับ สร้อยคอ แหวน กำไร ต่างหู รูปภาพ แจกัน กล่องใส่เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ในหลากหลายมิติ ด้วยเทคนิคการทำเครื่องรักสไตล์ยุโรปโมเดิร์น ฉีกกฎการทำเครื่องรักในเมืองไทยโดยสิ้นเชิง ที่มีผู้นิยามชิ้นงานของครูมานพว่า “โมเดิร์นรัก” หรือ “งานรักร่วมสมัย”
เส้นทางสายโมเดิร์นรักของเขาเปิดกว้างขึ้นอีกมาก ในมิติด้านการใช้วัสดุที่หลากหลาย ใช้เทคนิคทำเป็นเครื่องรักร่วมสมัย เพราะชิ้นงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมามีความปราณีตวิจิตรยิ่งกว่าชิ้นงานที่ มร.เบอร์นาร์ด ส่งเพียงรูปภาพให้แกะลวดลาย หรือออกแบบลาย หรือใช้เทคนิคใหม่เข้ามาผสมผสาน เกิดเป็นมิติของความงามที่ต่างออกไป ทำให้ครูมานพกลายเป็นศิลปินจากเมืองไทยที่ส่งออกชิ้นงานศิลปะโมเดิร์นรักอย่างยุโรป ไปยังยุโรปต่างกรรมต่างวาระ ทั้งการตกแต่งโรงแรมที่พักในยุโรป คฤหาสน์มหาเศรษฐี ที่มักเป็นลูกค้าคนสำคัญของมร.เบอร์นาร์ดนั่นเอง
ตลอดระยะเวลา 48 ปี ที่ครูมานพเริ่มต้นเส้นทางสายเครื่องรักร่วมสมัย กล่าวได้ว่าเขาอาจเป็นคนแรกและคนเดียวของไทย ที่ได้นำเทคนิควิธีการทำเครื่องรักแบบดั้งเดิม ผสมเทคนิคการฝังมุก มาต่อยอดผสมผสานกับเทคนิคการทำเครื่องรักอย่างญี่ปุ่นจากเซนเซคนแรกที่ได้บ่มเพาะเขา ให้เริ่มรู้จักชิ้นงานเครื่องรักที่ต่างไปจากงานล้านนา และนำมาผนวกเทคนิควิธีการเครื่องรักอย่างยุโรปที่มีมิติด้านรูปทรงที่ไม่ได้มีกรอบ ใช้เทคนิคดังกล่าวกับงานเฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับได้ตั้งแต่ขนาดของต่างหู แหวน กำไล ไปจนถึงชิ้นงานขนาด 3 เมตรได้ โดยสามารถใช้วัสดุอื่น เช่น เปลือกไข่ มุก และรัตนชาติมาประดับลงบนพื้นผิวที่หลากหลายขึ้น ทั้งโลหะ กระเบื้อง ทองเหลือง ทองแดงเหล็ก สแตนเลส แผ่นยิปซั่ม ไม่จำกัดแค่วัสดุทำจากไม้เหมือนในอดีต
วันนี้ในวันที่ได้ทำหน้าที่สล่าเครื่องรักร่วมสมัยเต็มตัว เขายังคงรับคำสั่งซื้อลูกค้าจากฝั่งยุโรปที่ได้ขยายฐานลูกค้ากว้างไปในประเทศอื่น อย่างฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ ในหมู่ผู้นิยมงานเครื่องรักร่วมสมัยสไตล์ยุโรป ขณะที่ครูมานพ เริ่มทำงานในบั้นปลายกับการร่วมเป็นสล่าช่างล้านนาทำนุบำรุงงานพุทธศิลป์ เปิดสอนเทคนิควิธีการทำเครื่องรักร่วมสมัยให้กับเยาวชน และผู้สนใจงานรักที่เป็นได้มากกว่าเครื่องรักและเครื่องเขินตามขนบเดิมนั่นเอง