เสถียร ณ วงศ์รักษ์

ครูศิลป์ของแผ่นดิน

การทำงานเครื่องเขินมีวัตถุดิบหลักคือ “รัก” และ “ชาด” บอกตรงๆว่ารักชาดจริงๆ รักก็รักจริงๆ ชาดก็ชาดจริงๆ ก็ตรงประเด็นปัจจุบันคือรักประเทศชาติจริงๆ หมายความว่า ชีวิตนี้มอบให้กับประเทศชาติ อนุรักษ์ฟื้นฟูเรื่องงานเครื่องเขิน ตอบแทนบุญคุณประเทศชาติในรูปแบบนักอนุรักษ์

ครูเสถียร  ณ วงศ์รักษ์ เป็นคนพื้นเพจังหวัดเชียงใหม่  บิดาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนเชื้อสานไทยใหญ่ ส่วนมารดานั้นเป็นชาวไทยองที่อพยพเข้ามาจากแคว้นสิบสองปันนา ครูเสถียรเป็นลูกคนที่3 จากพี่น้องทั้งหมด 9   คน มีพี่ชาย 2 คน น้องชาย 3 คน และ น้องสาวอีก 3 คน พ่อของครูมีอาชีพปั่นสามล้อถีบรับจ้าง ส่วนแม่นั้นเย็บผ้าโหลยังชีพสำหรับ 11 ชีวิต ด้วยความอัตคัด หลังเรียนจบจากโรงเรียนธรรมราชศึกษา หรือวัดพระสิงห์ในจังหวัดเชียงใหม่ ในระดับประถมศึกษาปีที่ 7 ยุคนั้น ทางบ้านส่งไปอยู่กับป้าที่จังหวัดนครสวรรค์ จนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนบูรณศักดิ์วิทยา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้วุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 แม้ในด้านวิชาการเขาจะทำคะแนนได้ไม่ดีนัก แต่ทว่าชั้นเชิงในด้านศิลปะแล้วเขาไม่เป็นรองใคร การไปใช้ชีวิตวัยเรียนที่นครสวรรค์ทำให้เขาได้เริ่มต้นสนใจงานศิลปะลายไทย จากครูสุธน  รอดมา เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ก็พัฒนาความรู้เชิงช่างจากการค้นคว้า เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับสล่าพื้นบ้าน ที่มักมีงานบุญร่วมกันในงานเทศกาลประเพณีต่างๆ ทั้งภาพวาดศิลปกรรมในวัด โบสถ์ วิหาร หรืองานเทศกาลประเพณีล้านนาที่จะมีเหล่าครูศิลป์ สล่าเมือง ร่วมงานอยู่เนืองๆ เป็นช่องทางสำคัญที่ครูเสถียรได้ฝึกฝีมือเชิงช่างให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น

ในวัย 18 ปี แม้เขาได้เป็นพนักงานพัสดุประจำในโรงงานยาสูบ ที่อำเภอพร้าวแล้ว เขายังทำงานด้านศิลปะที่รัก ด้วยการร่วมงานกับเหล่าสล่าพื้นบ้าน ในงานบุญท้องถิ่นหรือการประกวดผลงานหรืองานศิลปะล้านนาอยู่เสมอ  ในระหว่างนี้เองหม่อมเจ้าไกรสิงห์ วุฒิชัย นักออกแบบจิเวลรี่ชื่อดังในยุค 60 และยังออกแบบเสื้อผ้า ให้กับสมาชิกราชวงศ์ในยุคนั้นหลายพระองค์  ซึ่งได้รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีกับเจ้าของโรงงานยาสูบ มาถามหาช่างฝีมือออกแบบเครื่องประดับ  โดยมีเงื่อนไขว่าจะคัดผู้มีฝีมือ 3 คนด้วยการทดลองให้ออกแบบลวดลายเครื่องประดับ 3 วัน  แต่ยังไม่ทันครบ 3 วัน ครูเสถียรก็ได้รับการชักชวนให้ไปร่วมทำงานออกแบบของ หม่อมเจ้าไกรสิงห์ ที่วังของท่านในกรุงเทพฯ ทันที

ที่นั่นครูเสถียรได้พัฒนาความรู้เชิงช่าง ในการออกแบบลวดลายเครื่องประดับ ได้เรียนรู้การดูเครื่องประดับ เพชร พลอย เทคนิคการย้อมทองให้ดูร่วมสมัย ซึ่งเป็นศาสตร์ชั้นสูงจากอินเดีย และยังได้มีโอกาสออกแบบผูกลายสร้อยพระศอ และตุ้มพระกรรณ  ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังความปลาบปลื้มมาสู่ชีวิตของเขาไม่น้อย ที่ได้ถวายงานชิ้นประวัติศาสตร์

ตลอดเวลา 5 ที่ได้ทำงานอยู่กับ มจ.ไกรสิงห์ เขาได้พัฒนาความรู้ทักษะเชิงช่างงานศิลปะเครื่องประดับชั้นสูง ตลอดจนเทคนิคในการออกแบบและสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะ การสืบค้นประวัติศาสตร์ลวดลายศิลปะของพื้นถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่งถือเป็นวัฒนธรรมร่วม จีน อินเดีย และภาคพื้น เอเชียอาคเนย์ เขาได้กลับมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่อีกครั้งหลังสุขภาพของ มจ.ไกรสิงห์ ไม่สู้ดีในระยะหลัง

ที่บ้านเกิดเขาได้ใช้ประสบการณ์ด้านการออกแบบและศิลปะที่มีเข้าทำงานในร้านเรือนรัตนาร้านขายงานศิลปะพื้นบ้านล้านนา และรับซ่อมแซมเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเขิน เครื่องรักโบราณ ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักอนุรักษ์ยุคนั้น ส่วนตอนกลางคืนเขายังเป็นนักแสดงฟ้อนดาบ ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เพื่อหารายได้สำหรับการลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว

ในห้วงเวลานี้ เริ่มมีงานศิลปะยุคเก่าเข้ามาให้เขาซ่อมแซมหลายยุคหลายสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยชื่อเสียงการซ่อม สร้าง เสริมให้งานเก่าโบราณเหล่านี้มีคืนคุณค่าดังเดิม  ทั้งงานเครื่องรักเก่าของพุกาม เครื่องเขินเบงกาลี เครื่องเขินของจีน หรือแม้แต่เครื่องเขินของกลุ่มอารกัน ที่แต่ละพื้นที่จะมีเทคนิคขั้นตอนแตกต่างกันไปตามวัสดุที่มี ส่วนยุคเครื่องเขินของล้านนาเป็นยุคที่มีการพัฒนาร่วมกันระหว่างศิลปะไทยใหญ่และเชียงใหม่ สืบมาจนถึงทุกวันนี้
ชื่อเสียงการซ่อมงานเครื่องรักเครื่องเขินของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักอนุรักษ์กว้างขวางยิ่งขึ้น ว่าเป็นงานซ่อมที่ทำได้งดงามเหมือนของเก่าดั้งเดิมอย่างไร้ที่ติ จนมีงานซ่อมจากลูกค้าอาร์ตแกลลอรี่ชาวเยอรมัน ที่มักเสาะหาซื้องานของเก่าจากพม่า ส่งมาให้เขาซ่อมเป็นคันรถหกล้อเรียกว่าซ่อมกันแทบไม่ทันกระทั่งเขาต้องแยกตัวออกมารับงานซ่อมเองไม่ได้ทำงานประจำอีกต่อไป

ผลพลอยได้จากการได้ซ่อมงานเครื่องรักที่หลากหลาย ที่อาจพูดได้ว่าเป็นงานรักที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่สุวรรณภูมินี้เอง ทำให้เขาต้องเรียนรู้ศิลปะลายเส้น ประวัติศาสตร์ศิลปะงานเครื่องเขินเครื่องรัก ในแต่ละยุคอย่างแตกฉานเพื่อการจำลองลวดลาย หรือซ่อมแซมให้มีความงดงามเช่นเดียวกับที่มันเคยเป็น เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่กลายเป็นอัตลักษณ์ของครูเสถียรอย่างชัดเจนในงานเครื่องรักนั่นเอง

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2558
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องรัก
สถานะ :
มีชีวิต