ทองสุข จันทะวงษ์

ครูศิลป์ของแผ่นดิน

  • ครูทองสุข จันทะวงษ์ เกิดที่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ตลอดชีวิตจึงได้สัมผัสและคลุกคลีกับงานทอผ้ามัดหมี่มาตั้งแต่เด็กและมีความสนใจในศิลปะแขนงนี้อย่างยิ่ง เด็กชายทองสุขกำพร้าพ่อ เมื่ออายุเพียงแค่ 1 เดือน จึงอยู่กับแม่และพี่สาวในบ้านหลังเล็กๆ ซึ่งพี่สาวมีอาชีพทอผ้ามัดหมี่และมักจะทำงานอยู่ใต้ถุนบ้าน
  • ในขณะนั้นเด็กชายทองสุขมีอายุเพียง 13 ปี มักจะดูพี่สาวทำงานมัดหมี่ผ่านช่องโหว่เล็กๆ จากบนบ้าน ครั้นพอพี่สาวละมือจากการมัดหมี่ ทองสุขก็จะแอบย่องลงมาลองมัดหมี่เองโดยไม่มีใครสอน แต่ก็ทำได้เพราะใจรัก ทำอยู่หลายครั้งจนพี่สาวจับได้ พี่สาวก็โกรธและให้ทดสอบว่า ถ้าทองสุขสามารถมัดหมี่ได้ถูกต้องจะไม่ลงโทษ แต่ถ้าทำผิดจะลงโทษเมื่อทำให้พี่สาวดู พี่สาวก็พอใจที่ทำได้ถูกต้องและยอมให้ช่วยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากนั้นก็ยังได้ฝึกฝนให้ทองสุขรู้จักขั้นตอนและเทคนิควิธีต่างๆ ของการทอผ้าไหมมัดหมี่ จนได้ช่วยงานทอผ้าไหมมัดหมี่ของที่บ้านอยู่ 2-3 ปี ก็สามารถทอผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายยากๆ ได้ ประกอบกับทองสุขมีความจำดีเยี่ยมจึงสามารถจดจำขั้นตอนและวิธีการทอผ้าไหมมัดหมี่รวมทั้งหมดลายดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การมัดหมี่เป็นเรื่องง่ายสำหรับทองสุข ลายแรกที่ทอได้ คือ “ลายหมากจับ” ต่อมาพี่สาวได้งานที่โรงงานยาสูบ ทองสุขจึงทำงานทอผ้ากับแม่ตามลำพัง
  • วิชาการทอผ้ามัดหมี่ของครูทองสุขจันทะวงษ์ จึงมีลักษณะเป็น “ครูพักลักจำ” มาก่อนแล้วจึงได้รับการถ่ายทอดเพิ่มเติมในภายหลัง ครูทองสุข ไม่ได้ทอเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณเพื่อการอนุรักษ์แต่เพียงอย่างเดียว หากครูยังเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่มีรูปแบบใหม่ๆ เพื่อความสวยงามและเน้นถึงความนิยมของตลาด ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
  • ครูทองสุขได้สร้างเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยการเพิ่มจุดสีขาวลายมัดหมี่ (การไว้ขาว) กระจายทั่วผืน ทำให้ผ้าสวยงามขึ้น จนปัจจุบันมีผู้นำไปทำเลียนแบบ
ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2553
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต