วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

ครูศิลป์ของแผ่นดิน

  • ครูวีรธรรม  ตระกูลเงินไทย เป็นลูกหลานชาวบ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ โดยกำเนิด เกิดและเติบโตท่ามกลางญาติพี่น้อง ที่เป็นช่างทอผ้าทั้งหมู่บ้าน จึงซึมซับภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชาวท่าสว่างไว้อย่างลึกซึ้ง
  • เมื่อเรียนจบปริญญาตรีคณะศิลปะประจำชาติ เอกกิจกรรมไทย จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง ในสมัยนั้น จึงได้นำความรู้การออกแบบลวดลายไทยและลวดลายชั้นสูงแบบราชสำนักโบราณ มาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับการทอแบบพื้นบ้านภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก โดยการรวบรวมผู้เฒ่าผู้แก่มารื้อฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยทอมือ และการย้อมไหมด้วยสีจากวัสดุธรรมชาติ ถ่ายทอดให้ญาติพี่น้องจนสามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้า “จันทร์โสมา” รังสรรค์เป็นผ้ายกทองที่มีลวดลายสวยงามอย่างน่ามหัศจรรย์และเทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์สร้างชื่อเสียง โด่งดังไปทั่วโลก
  • “สำหรับหมู่บ้านท่าสว่าง เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาช้านาน ตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาเก่าแก่แล้วได้ร่วงโรยไปสักระยะหนึ่ง พอดีมีเหตุการณ์หนึ่ง คือ มีพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มายังอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ กับคุณหญิงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี อาจารย์เล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านเล่าว่าสมัยก่อนผ้าไหมไทยมีความนุ่ม เนียน แล้วก็แน่นมากทำอย่างไรจึงจะได้ผ้าชนิดนั้นคืนกลับมา อาจารย์ก็มาไหว้วานให้ลองทำดู ซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมการทำไหมน้อยที่มีความละเอียดและมีแต่เดิมอยู่แล้วพอทำเสร็จเป็นที่ถูกใจอาจารย์ครับ”
  • ครูวีรธรรม และกลุ่มทอผ้าจันทร์โสมา ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการทอผ้ายกทองแบบโบราณสร้างสรรค์ผลงานผ้าไหมยกทองให้ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวโลกหลายในหลายโอกาส ในครั้งแรกสุดเป็นการทอผ้าเพื่อถวายแด่พระบรมศานุวงศ์ และราชสำนักโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นเบื้องต้น
  • ปัจจุบันครูวีรธรรม ได้ขยายกลุ่มทอผ้าจันทร์โสมาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และผ้าไหมยกทองกลุ่มจันทร์โสมาก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น สร้างงานสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้ชาวบ้านท่าสว่าง มาจนถึงทุกวันนี้
ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2554
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต