สุพัตรา ชูชม

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

“ การจกขนเม่นผ้าซิ่นไทยวน - เสาไห้ หายไปกว่า 150 ปีแล้ว ซึ่งซิ่นตีนจกแค่หนึ่งคืบ บ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรม คติความเชื่อของชาวไทยวนเป็นสมบัติล้ำค่า ถ้าไม่มีผ้าซิ่นไทยวนเราก็ไม่มีทางรู้จักตัวตนของเราในวันนี้ ”

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าซิ่นตีนจกไทยวนฝีมือคุณสุพัตรา คือ เน้นความเป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาดั้งเดิม และคติความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของชาวไทยวน – เสาไห้ ได้อย่างชัดเจน อาทิ ผ้าจกลายเชียงแสนน้อย ลายหลัก คือ ลายที่อยู่ตรงกลางเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุเป็นที่อยู่หลังความตายของทุกคน ลายขออึ่ง เป็นลายประกอบ ซึ่งเป็นจุดเด่นของผ้าจกสระบุรีคือจะประกอบด้วยครีบเสมอ เปรียบเสมือนมหานทีที่จะต้องข้ามไปให้ถึงเขาพระสุเมรุ ลายเป็ด ลายหางสะเปาขอน้ำคุ หางสะเปา หากดูจากลวดลายผ้า จะเหมือนกับกระทงที่มีเทียนจุดล่องลอยอยู่ในน้ำ มองเห็นแสงเทียนสะท้อนเป็นสายพลิ้วลงในน้ำ เปรียบเสมือนเรือสำเภาที่จะนำผู้กระทำความดี เท่านั้นเพื่อมุ่งสู่เขาพระสุเมรุ เพื่อบรรลุสู่นิพพาน เพื่อไปเฝ้าพระเกตุแก้วจุฬามณี ส่วนพื้นสีแดงคือสวรรคภูมิ

ผ้าจกลายเก่าแก่ของสระบุรี ลายหลัก คือลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น ที่เป็นสัญลักษณ์ของทั้ง 8 เมือง มักจะมีอยู่ในผืนผ้าเสมอ มีลายประกอบคือ ลายดอกแก้ว ส่วนตัวซิ่นจะเป็นลายที่มีในจังหวัดสระบุรีเท่านั้น ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายเครือวัลย์ ลายปูนปั้น

เอกลักษณ์ของย่ามไทยวน – เสาไห้ที่คุณสุพัตรายังคงยึดกระบวนการสร้างสรรค์แบบดั้งเดิม ได้แก่

- ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ อาทิ ลายขอประแจ มีนัยยะของการอวยพรว่าให้ไปที่ใดก็แก้ไขปัญหาได้ราบรื่น

- การเย็บด้วยลายที่สืบทอดกันมา เช่น เย็บแบบสนกระดูกงูที่ปากย่าม, เย็บจ่องแอวเขียดต่อระหว่างตัวย่าม กับสายสะพาย

- มีพู่ย่าม ที่ถักลวดลาย และสามารถใช้ได้ทั้งสองด้าน

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2562
เพศ :
หญิง
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต