เอกลักษณ์ผลงานการแกะสลักไม้แบบมลายูที่สะท้อนความโดดเด่นฝีมือของ นายเซ็ง อาแว เช่น
นกกากะสุระ หัวนกกากะสุระ นั้นนำไปใช้ในประเพณีแห่นกซึ่งเป็นประเพณีพื้นเมืองในแถบจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้กระทำ สืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง หรือเพื่อต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการคารวะแสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัต หรือเรียกว่า “มาโซะยาวี” ผลงานชิ้นนี้นายเซ็งมีความประณีต ละเอียด ในการแกะสลักที่โดดเด่น มีลวดลายที่คมลึก และพลิ้วไหว คู่ควรแก่การใช้ในพิธีการสำคัญของชุมชน
กอแฆ หรือกระต่ายขูดมะพร้าว หรือในบางพื้นที่เรียกว่า กระต่ายขูด หรือเหล็กขูด เป็นเครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าว รูปแบบการแกะสลักลวดลายกระต่ายขูดมะพร้าว มี 3 ชนิด คือ กระต่ายเขตเมือง กระต่ายเขตทะเล กระต่ายเขตภูเขา ซึ่งลวดลายแกะสลักแตกต่างกัน กระต่ายเขตเมือง จะมีการแกะสลักที่มีมาของลาย และแฝงไว้ด้วย หลักปรัชญาที่ชัดเจน ส่วนกระต่ายทะเล ได้รับอิทธิพลลายมาจากชวา นิยมแกะรูปมังกร หรือลายเรือกอและ และกระต่ายภูเขา ลวดลายจะขึ้นอยู่กับความพอใจของช่างแกะ ไม่มีที่มาที่ไปของลวดลาย
การแกะสลักกระต่ายของนายเซ็ง จะแกะโครงสร้างตัวกระต่ายให้มีความโค้ง ความเว้าได้สรีระงดงาม ส่วนขาต้องทำให้ดูแข็งแรง คล้ายสิงห์ ดูทรงพลังอำนาจ จากนั้นจึงแกะสลักลวดลายมลายูที่งดงาม ไปตามทรวดทรงของกระต่าย ยกเว้นบริเวณหลัง ซึ่งเป็นที่รองนั่งเนื่องจากมีความเชื่อที่จะต้องไม่นั่งทับไปบนลายดอกมลายู
แม่พิมพ์ขนมปูตู การแกะสลักแม่พิมพ์นั้นต้องอาศัยความชำนาญของช่างแกะสลักเพื่อให้ลวดลายขนมคมชัดสวยงามและต้องอาศัยจินตนาการในการกลับด้านลายเพื่อให้ขนมถอดพิมพ์ออกมาได้อย่างงดงาม ซึ่งแม่พิมพ์ ขนมปูตูที่นายเซ็งแกะสลักไว้นั้นจะมีลักษณะลวดลายที่คมชัด พร้อมไปกับความอ่อนช้อยสวยงาม จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในเขตจังหวัดชายแดนใต้ที่มีวัฒนธรรมการกิน ขนมปูตู ซึ่งเป็นขนมในท้องถิ่น ทำจากการโม่แป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำตาล จากนั้นนำมาทำเป็นน้ำตาลเข็ง แล้วคลุกเคล้าผสมกันให้เข้ากันจากนั้นมามาอัดลงบนแม่พิมพ์อัดให้แน่น จากนั้นคว่ำแม่พิมพ์ลงและเคาะด้วยไม้เพื่อให้ขนมออกมา เชิงชาย ช่องลม มักนิยมแกะทั้งแบบฉลุลายอย่างเดียวและทั้งแกะสลักลวดลายบวกกับฉลุลาย ซึ่งส่วนใหญ่นิยมฉลุเป็นลวดลายอักขระโบราณคำสอนพระอัลเลาะห์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาคารบ้านเรือน เสมือนเครื่องรางคอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย กรอบซุ้มประตูทางเข้า หรือ หัวเตียงนอน นิยมแกะเป็นลวดลายธรรมชาติ ได้แก่ ลายต้นกือเราะนาซิ หรือ ภาษาไทยเรียกว่า ต้นดอกชำมะนาดมลายู ซึ่งมีลักษณะใบมนปลายเรียวแหลม ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นข้าวที่กำลังสุกใหม่ ๆ หรือคล้ายข้าวไหม้ ช่างมลายูในอดีตจะนิยมนำมาแกะลวดลายจากต้นนี้ เช่น กรอบเตียงของเจ้าเมืองยาวีปัจจุบันอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย